แชร์เลย

เข้าสู่ช่วงหน้าฝนทีไร ชีวิตในเมืองกรุงก็เหมือนจะลำบากขึ้นตาม ต้องหยุดกิจกรรมทุกอย่าง และรอคอยให้ฝนซา
สำหรับกรุงเทพฯ นั้นอาจจะดีหน่อยที่ฝนมาเยือนเพียงไม่กี่เดือนของฤดูกาล แต่ถ้าเราต้องเจอฝนเกือบทั้งปี เหมือนเมือง Gothenburg ประเทศสวีเดน ที่ได้ฉายาว่าเป็นเมืองแห่งสายฝน ที่มีฝนตกทุกๆ สามวัน คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะใช้ชีวิต
แล้วสวีเดนออกแบบเมืองยังไงเมื่อต้องเผชิญกับฝนที่ตกเกือบทุกวัน? พวกเขาเปลี่ยนอุปสรรคจากฝนให้ให้กลายเป็นเสน่ห์ของเมือง และทำให้ชาวเมืองแฮปปี้กับการอยู่ร่วมกับน้ำได้อย่างไร ?
Gothenburg เป็นเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสองของสวีเดน และเป็นเมืองใหญ่อันดับห้าในกลุ่มประเทศนอร์ดิก เป็นเมืองที่มีความโดดเด่นไม่เหมือนใคร ด้วยภูมิประเทศที่ถูกโอบล้อมไปด้วยน้ำ ทั้งทะเลและแม่น้ำ ส่งผลให้เมืองนี้มีฝนตกชุกเฉลี่ยปีละ 120 วัน หรือราวๆ 3 วันครั้งตลอดทั้งปี ทำให้ผู้คนต่างขนานนามว่าเมืองแห่งสายฝน

ข้อมูลประวัติศาสตร์บอกว่าเมือง Gothenburg นั้นมีฝนตกมากกว่า 40% ต่อปี จนเมื่อสภาพภูมิอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ รุนแรงขึ้น ทำให้ระยะหลังฝนตกมากขึ้นเกินกว่า 40% บางปีสูงถึง 150 วัน หลังจากอยู่ร่วมกับฝนมายาวนานกว่า 400 ปี และฝนมีทีท่าชุกขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ในปี 2021 เมือง Gothenburg ได้จัดการเฉลิมฉลองการอยู่ร่วมกับน้ำมายาวนานด้วยการริเริ่มโครงการ Rain Gothenburg ขึ้นเพื่อมุ่งมั่นเปลี่ยนมุมมองต่อสายฝน เปลี่ยนจากอุปสรรคกลายเป็นโอกาส ผ่านการออกแบบเมืองและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่ โดยคำนึงถึงฝนที่ตกชุกเป็นปัจจัยหลัก
แนวคิดนี้มุ่งเน้นไปที่การออกแบบพื้นที่สาธารณะให้ผู้คนสามารถใช้ประโยชน์จากสายฝน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนพื้นที่ว่างให้กลายเป็นสนามเด็กเล่นน้ำ สร้างสวนสาธารณะที่มีกิจกรรมสำหรับเล่นน้ำ ออกแบบถนนหนทางให้รองรับน้ำฝน ไปจนถึงพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่สะดวกและปลอดภัยในยามฝนตก



โรงเรียนที่มีความสุขแม้ตอนฝนตก
หนึ่งในโปรเจกต์สำคัญของ Rain Gothenburg คือ Biskopsgården ย่านที่ถูกระบุว่าอ่อนไหวต่อน้ำท่วม เพื่อให้ย่านและคนอยู่ร่วมกับน้ำได้ ทางเมืองจึงปรับปรุงย่านใหม่เพื่อรับมือกับสถานการณ์ในอนาคต ซึ่งมีการศึกษาเส้นทางการระบายน้ำเพื่อวางระบบพื้นที่รับน้ำตามเส้นทางการไกล มีการพัฒนาพื้นที่สีเขียวและพื้นที่รับน้ำในหลายรูปแบบ ตลอดจนร่วมมือกับหน่วยงานเอกชนออกแบบภูมิทัศน์ของพื้นที่ที่เน้นการร่วมรับน้ำ เช่น ทำหลังคาสีเขียว สวนแนวตั้ง ฯลฯ
นอกจากนั้นทางเมืองยังได้พัฒนาย่าน Masthuggskajen ที่เป็นเขตทางตอนใต้ของเมืองและเป็นบริเวณใกล้แม่น้ำ Göta älv ซึ่งมีความเปราะบางต่อความไม่แน่นอนของสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาเขตนี้ของเมืองมีทั้งสร้างสวนเพื่อรับน้ำถึงสองแห่ง นอกจากนั้นก็มีการสร้างพื้นที่สีเขียว ต้นไม้ต่างๆ ตลอดริมน้ำ
โครงการนี้ไม่เพียงผลักดันและพัฒนาแค่ย่านที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่ยังพยายามพัฒนาสนามเด็กเล่นให้กับเด็ก โดยสนามเด็กเล่นนี้คือ Renströmsparken เป็นสนามเด็กเล่นกลางสายฝน ที่แม้จะเป็นวันที่ฝนตกหนัก เด็กๆ ในเมืองก็ยังสามารถออกมาเล่นสนุกกลางแจ้งได้ เพราะจะมีทั้งแอ่งน้ำให้กระโดด มีโครงตาข่ายปีนป่ายแบบ Rainfall และหลังคารูปใบไม้ที่ช่วยบังฝนและแสงแดด


แม้จะถูกเรียกว่าเป็นเมืองที่มีฝนชุก แต่อีกด้าน Gothenburg ยังเต็มไปด้วยการเป็นเมืองที่เปี่ยมเสน่ห์ จากการปรับตัวของเมืองเพื่ออยู่ร่วมกับน้ำในปัจจุบัน กระทั่งอนาคตที่สภาพภูมิอากาศกำลังจะเปลี่ยนแปลงไป Gothenburg ก็นับว่าวางแผนรับมือได้เป็นอย่างดี ซึ่งก็น่าสนใจหากเมืองเช่นกรุงเทพฯ จะนำมาปรับใช้เพื่อรับกับสถานการณ์ในอนาคต

อ้างอิงข้อมูลจาก
https://goteborg2023.com
https://www.theguardian.com
https://www.goteborg.com
https://urbangreenadaptationdiary.wordpress.com