
ถ้าคุณเป็นคนชอบตึกยุคโมเดิร์นและสงสัยว่าต้นกำเนิดของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในประเทศไทยเริ่มจากตรงไหน อาจจะค้นหาคำตอบได้ยากสักหน่อย เพราะการชี้ชัดว่ายุคสมัยทางสถาปัตยกรรมนั้นเริ่มต้นจากตึกไหนเป็นเรื่องค่อนข้างยาก แต่ก็พอจะสันนิษฐานแบบภาพรวมๆได้ ว่ากระแสความนิยมต่างๆ มีสาเหตุและต้นกำเนิดมาจากปัจจัยอะไรบ้าง เราจึงอยากพาทุกคนไปสำรวจเค้าร่างของกระแสความนิยมตึกโมเดิร์นหรือสถาปัตยกรรมยุคสมัยใหม่ในประเทศไทย
ถ้านึกถึงแหล่งความเจริญยุคแรกๆ นับตั้งแต่ประเทศเราเริ่มรับอิทธิพลการใช้ชีวิตแบบสังคมตะวันตกมาใช้แล้ว ย่านที่สำคัญและเป็นศูนย์รวมทางเศรษฐกิจสังคมคงหนีไม่พ้น “ย่านถนนเจริญกรุง”
ถนนเจริญกรุงเป็นถนนสายแรกที่ได้รับการออกแบบก่อสร้างอย่างมีมาตรฐาน เรียกว่าเป็นถนนสมัยใหม่ที่ให้รถยนต์วิ่งได้อย่างสะดวก อีกทั้งยังตัดผ่านเป็นย่านสำคัญของเมืองหลวงที่ในสมัยก่อนเต็มไปด้วยสถานทูต บริษัทต่างชาติ สถานที่ราชการต่างๆ ผู้คนที่อยู่อาศัยย่านนี้ก็มีทั้งฝรั่ง แขก จีน หลากหลายทางวัฒนธรรม
ถนนจึงกลายเป็นเครื่องมือในการสร้างบ้านแปลงเมืองนำพาความเจริญไปสู่พื้นที่ต่างๆ ในสมัยที่ยังไม่มีอาคารบ้านเรือนมากนัก ช่วงนี้เองที่เริ่มมีการก่อสร้างอาคารใหม่ๆ ริมสองฝั่งถนนมากขึ้น จนทำให้ถนนเจริญกรุงก็กลายเป็นทำเลทองของตึกสมัยใหม่ในยุคต้นๆ หรือเรียกได้ว่า “Early modern architecture”

ตึกไปรษณีย์กลาง
หลายๆ คนอาจจะลืมการส่งจดหมายติดแสตมป์ไปแล้ว เช่นเดียวกับคำว่า “โทรเลข” ที่ก็เลือนลางหายไปจากชื่อตึกนี้
ตึกไปรษณีย์กลาง เป็นอาคารโมเดิร์นยุคแรกๆ ที่สร้างขึ้นหลังช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่นาน สร้างเสร็จก่อนอาคารริมถนนราชดำเนินกลางเสียอีก
ตึกนี้เป็นตึกแห่งที่ 4 ของกิจการกรมไปรษณีย์โทรเลข แห่งแรกคือตึก “ไปรสนียาคาร” บริเวณเชิงสะพานพุทธซึ่งก็เป็นอาคารเดิมของพระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล) แห่งที่สองนั้นอยู่บริเวณศุลกสถาน (โรงภาษีร้อยชักสาม) และต่อมากรมไปรษณีย์ฯ ใช้อาคารสถานทูตอังกฤษเดิมเป็นที่ทำการแห่งใหม่ นับเป็นหลังที่สาม

ตัวอาคารได้รับการออกแบบโดยพระสาโรชรัตนนิมมานก์ หัวหน้ากองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร และมีนายหมิว อภัยวงศ์ เป็นผู้ช่วย มีนายเอช เฮอรมันเป็นวิศวกร

อาคารมีการออกแบบที่เรียบง่าย สร้างความสมมาตรซ้าย-ขวา ด้วยมุขทางเข้าแต่ก็ยังเน้นมุขทางเข้าหลักเป็นสำคัญ เน้นปริมาตรและเส้นสายของอาคาร ตามแนวทางของการออกแบบสมัยใหม่

ใช้วัสดุที่ทันสมัยในยุคนั้น นั่นคือโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก แต่ก็ยังมีการตกแต่งผิวภายนอกด้วยการเซาะร่องเลียนแบบการก่ออิฐหรือก่อหิน
นอกจากสถาปัตยกรรมที่ออกแบบโดยแนวคิดสมัยใหม่แล้ว ยังมีศิลปกรรมประดับอาคารที่ได้รับอิทธิพลของแนวความคิดสมัยใหม่ด้วยเช่นกัน
นั่นคือรูปปั้นครุฑขนาดสูง 3 เท่าคนจริง ออกแบบและปั้นโดยอาจารย์ศิลป์ พีระศรีและลูกศิษย์ เป็นผลงานศิลปะที่ต่างจากขนบเดิมคือใช้รูปทรงกายวิภาคดูแข็งแรงกำยำขึ้น ต่างจากศิลปะไทยในอดีตที่ดูอ่อนช้อยกว่า


เช่นเดียวกับบานประตูเหล็กหล่อ 3 คู่ ด้านหน้าทางเข้าหลัก ก็เป็นผลงานของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี และลูกศิษย์เช่นกัน

และผลงานศิลปกรรมรูปปั้นรูปแสตมป์ที่มีเรื่องราวต่างๆ ตามวาระเหตุการณ์ที่สำคัญของบ้านเมือง

ภายในตึกไปรษณีย์กลางที่ได้รับการปรับปรุง และมีการเก็บรักษานาฬิกาเรือนใหญ่เรือนเดิมที่ติดตั้งอยู่บริเวณโถงชั้น 3 ตั้งแต่ครั้งแรกสร้าง
ความดีงามของการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าไว้เปรียบเสมือนการเก็บห้วงเวลาในประวัติศาสตร์ไว้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้มาศึกษา เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ทำให้ถิ่นฐานย่านนี้มีคุณค่ามากขึ้น