14 มิถุนายน 2567

หลุยส์ ซัลลิแวน Louis Sullivan

web.jpg


ในเดือนแห่งไพรด์แบบนี้ เราขอพาทุกท่านไปรู้จักกับสถาปนิกนักออกแบบที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน LGBTQ+ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังรูปร่างหน้าตาของเมืองที่มีความพิเศษเฉพาะตัว และต้องต่อสู้ในฐานะผู้ที่มีความหลากหลายและนำพาวิชาชีพการออกแบบและสถาปัตยกรรมไปข้างหน้า

สำหรับสถาปนิกที่เราจะพาไปรู้จักในบทความนี้คือ หลุยส์ ซัลลิแวน (Louis Sullivan) สถาปนิกระดับปรามาจารย์ ซัลลิแวนเป็นสถาปนิกในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เป็นยุคสมัยที่อาคารเหล็กกล้าและตึกอาคารเริ่มพุ่งทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า ในการออกแบบตึกระฟ้า ซัลลิแวนเป็นผู้ริเริ่มปรัชญาการออกแบบ ที่หลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินและยึดไว้เป็นหัวใจในการดีไซน์ นั่นคือหลัก ‘Form follows function’ และตัวซัลลิแวนเองก็ถือเป็นเสาหลักของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (modernism) และยังเป็นอาจารย์ของแฟรงก์ รอยด์ ไรท์ (Frank Lloyd Wright) ด้วย

ในช่วงเวลาเมื่อร้อยปีก่อน การเปิดเผยตัวตนว่าเป็นคนรักเพศเดียวกันมีโทษถึงตาย ซัลลิแวนก็เป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่มีการศึกษาทบทวนย้อนหลัง จากร่องรอยต่างๆ ก่อนที่จะถูกนับรวมว่าเป็นส่วนหนึ่งของคอมมูนิตี้ LGBTQ+ สำหรับซัลลิแวนเองก็มีร่องรอยและข้อสันนิษฐานว่า ตัวปรามาจารย์ท่านนี้น่าจะมีแนวโน้มการรักเพศเดียวกัน (homosexual) ในประวัติของซัลลิแวนเองช่วงปลายทางชีวิตของเขาในฐานะผู้วางรากฐานให้กับตึกระฟ้า โดยเฉพาะในความเป็นคนสำคัญในสถาปัตยกรรมอเมริกันสมัยใหม่ กลับถือว่าจบลงไม่ค่อยดีนัก

talk19_06.jpeg

อาจารย์ของอาจารย์ และเสาหลักของสถาปัตยกรรมอเมริกัน

ซัลลิแวนเป็นหนึ่งในสถาปนิกยุคบุกเบิกของโลกสมัย ซัลลิแวนเกิดในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ในปี 1856 เขาเป็นลูกหลานของชาวยุโรปอพยพลูกครึ่งสวิส- ไอริส ที่มาเกิดและเติบโตในสหรัฐ ตัวซัลลิแวนเกิดที่บอสตัน และได้เข้าเรียนด้านสถาปัตยรรมที่ MIT(Massachusetts Institute of Technology) เรียนได้หนึ่งปีก็ย้ายไปทำงานเป็นสถาปนิกกับสถาปนิกแห่งยุคสมัย แฟรงก์ เฟอร์เนส (Frank Furness) ที่ฟิลาเดเฟีย

การทำงานที่ฟิลาเดเฟียของซัลลิแวนสิ้นสุดลงเพราะภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ(Great Depression) ในปี 1873 ในปีเดียวกันนั้นเองเขาก็ได้ย้ายไปที่ชิคาโก เมืองที่สถาปัตยกรรมกำลังเติบโต จากการสร้างเมืองใหม่หลังเหตุไฟไหม้ใหญ่ ที่ชิคาโกซัลลิแวนได้ทำงานกับ William LeBaron Jenney สถาปนิกและวิศวกรผู้สร้างอาคารโครงเหล็ก(steel frame building) ทำงานได้ไม่ถึงปีก็ย้ายไปเรียนที่วิทยาลัยโบ (École des Beaux-Arts)และกลับมาทำงานที่ชิคาโก

ซัลลิแวนทำงานร่วมกับหลายสตูดิโอ เป็นสถาปนิกคนสำคัญที่ทำงานในช่วงเวลาที่สถาปัตยกรรมเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญจากอาคารที่ใช้ระบบการรับน้ำหนักด้วยกำแพง ไปสู่การใช้โครงเหล็กและระบบวิศวกรรมในการถ่ายน้ำหนัก ในยุคนี้เองที่เมืองโดยเฉพาะในสหรัฐเริ่มเกิดอาคารสูงที่มีรูปทรงเหมือนกล่องคือมีขนาดของฐานที่พุ่งตรงขึ้นสู่ท้องฟ้าได้ นอกจากความก้าวหน้าด้านวิศวกรรมแล้ว การเติบโตทางเศรษฐกิจ การเกิดพื้นที่เมือง พื้นท่ีทำงาน และพื้นที่อยู่อาศัย ใหม่ๆ เองก็เป็นเหตุผลที่ทำให้ชิคาโกกลายเป็นหนึ่งในเมืองที่มีสถาปัตยกรรมสมัยใหม่แบบอเมริกา

ซัลลิแวนเป็นหนึ่งในสถาปนิกคนสำคัญที่ต่อมาส่งอิทธิพลให้กับสถาปัตยกรรมของชิคาโก (Chicago School) ร่วมกับ แฟรงก์ ลอยด์ ไรท์ และ เฮนรี่ ฮอบสัน ริชาร์ดสัน (Henry Hobson Richardson) อาจเรียกได้ว่าสามคนนี้คือสถาปนิกที่เป็นเสาหลักของสถาปัตยกรรมอเมริกัน

talk19_01.jpeg

Form Follow Function

ถ้าเรามองย้อนกลับไปถึงการยกย่องซัลลิแวนในฐานะบิดาของทั้งอาคารสูงและสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (modernism) คือในยุคนั้นเกิดตึกสูงแบบใหม่ขึ้น และซัลลิแวนเป็นผู้ที่เสนอรวมถึงวางหลักการว่า ตึกสูงรูปแบบใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น รวมถึงบางส่วนที่ตัวเองเป็นคนลงมือออกแบบนั้นจะไม่ใช้วิธีการแบบเดิมๆ ไม่ลอกเลียนตึกอาคารหรือสถาปัตยกรรมไหนที่มีมาก่อนหน้า

สิ่งที่ซัลลิแวนยึดถือป็นหลักการคือความคิดเรื่องฟังก์ชั่นต้องมาก่อนซึ่งถือเป็นสุดยอดหลักการที่ยังคงศักดิ์สิทธิ์มาจนถึงทุกวันนี้ ตัวซัลลิแวนเองเขียนหนังสือว่าด้วยงานออกแบบ งานช่าง สถาปัตยกรรมรวมถึงปรัชญาเกี่ยวกับการทำงานไว้หลายชิ้น หนึ่งในบทความสำคัญที่ซัลลิแวนเขียนชื่อว่า The Tall Office Building Artistically Considered ตีพิมพ์ในนิตยสาร Lippincott ในปี 1986 งานเขียนชิ้นนี้ถือเป็นคัมภีร์สำคัญและความเข้าใจที่มีต่อการออกแบบอาคารสูง ตึกสำนักงานสมัยใหม่ รวมถึงเป็นจุดกำเนิดของคำว่า Form follows function ของซัลลิแวน

อย่างไรก็ตาม ได้มีข้อทบทวนเรื่องตึกสำนักงานของซัลลิแวนที่อภิปรายลักษณะพิเศษของอาคารสูงในฐานะรูปแบบอาคารใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น ว่าตึกสูงเป็นอาคารที่เต็มไปด้วยด้วยฟังก์ชั่น ด้วยเป้าประสงค์ของการใช้งาน อันที่จริงแล้วซัลลิแวนก็ใช้แรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมคลาสสิกในการออกแบบเช่นกัน คือมองโครงสร้างตึกเป็นสามส่วนเหมือนกับลักษณะของเสาในสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกที่ประกอบด้วยฐาน ตัวเสา และยอดเสา (base, shaft, and capital) ตรงนี้ซัลลิแวนมองตึกสูงเป็นโครงสร้างที่ล้อไปกับลักษณะเสาโดยแบ่งเป็นสามส่วนคือส่วนล่าง บริเวณพื้นที่โถงต้อนรับ ชั้นสอง โซนสำนักงาน และพื้นที่ด้านบนของอาคาร

talk19_04.jpeg

ตรงนี้เองที่แนวคิดเรื่องฟังก์ชั่นมาก่อนกลายเป็นหัวใจของสถาปัตยกรรม อย่างแรกคือหน้าตาโดยรวมของอาคารคืออาคารสูง หน้าตาของมันจะผันแปรไปตามโครงสร้างและการใช้งาน คือโครงสร้างตึกพาเราขึ้นไปเป็นแบบไหน อาคารก็จะปรับไปตามโครงสร้างนั้นๆ การจัดการพื้นที่ภายในก็จะสะท้อนไปตามทั้งโครงสร้างและการใช้งาน เช่นการแบ่งเป็นยูนิตตามโซนทั้งสามโซน ซัลลิแวนเสนอว่าพื้นที่เช่นส่วนล่างของอาคารมีหน้าที่รับแขก ควรออกแบบให้กว้างขวางและรองรับผู้คนได้ ชั้นออฟฟิศควรออกแบบสัดส่วนโดยสัมพันธ์กับสัดส่วนของหน้าต่าง ส่วนด้านบนสุดอาจไม่จำเป็นต้องมีหน้าต่างเพราะเป็นพื้นที่ด้านงานระบบ

ในหลักการหรือข้อทบทวนที่ซัลลิแวนเสนอในบทความ ในที่สุดซัลลิแวน ซัลลิแวนจึงเขียนถ้อยคำสำคัญว่า กฏสำคัญคือรูปทรงต้องมาทีหลังการใช้งานเสมอ (form ever follows function. This is the law) หลักการใหม่นี้มาทดแทนการออกแบบที่เน้นการลอกเลียนรูปแบบหรือหน้าตาอาคารจากในอดีต สู่การออกแบบด้วยวิธีคิดจากการใช้งานหรือจากเงื่อนไขของตัวสถาปัตยกรรมนั้นๆ

talk19_05.jpeg

ข้อสันนิษฐานความเป็น LGBTQ

ในหลักการของซัลลิแวนที่ว่าด้วยอาคารสูง รวมถึงผลงานออกแบบตึกสูงและอาคารสำนักงานของซัลลิแวนแม้จะว่าด้วยฟังก์ชั่น แต่ทว่าตัวงานออกแบบของซัลลิแวนก็ไม่ได้แข็งกระด้างหรือมีแต่หลักว่าด้วยฟังก์ชั่นอย่างเดียว หน้าตาอาคารโดยรวมสะท้อนฟังก์ชั่นก็จริง แต่สิ่งประดับต่างๆ ซัลลิแวนมีการผสมผสานศิลปะคลาสสิกที่มีความอ่อนช้อย งดงามเข้าไปประกอบด้วยเสมอ เช่นการใช้เสาเซาะร่อง และที่สำคัญคือหลุยส์ ซัลลิแวน มักจะใช้งานปูนปั้นรูปทรงธรรมชาติเช่นเถาไม้และช่อดอกไม้ประดับอาคาร ใช้ความงดงามเข้าไปประกอบและลดทอนความแข็งกระด้างของอาคารสูง

ตัวอย่างอาคารเช่น The Guaranty Building ผลงานเดียวที่นิวยอร์กของซัลลิแวน ตัวอาคารถ้ามองจากระยะไกลจะเป็นตึกสูงที่แบ่งเป็นสามส่วน แต่ในรายละเอียดอาคารเต็มไปด้วยการประดับประดาอาคารที่อ่อนช้อย หัวเสาด้านบนที่เป็นลวดลายเถาไม้ หรือในการออกแบบห้างสรรพสินค้า Carson Pirie Scott Department Store ที่ปัจจุบันเป็นศูนย์ Sullivan Center ปัจจุบันอาคารรีโนเวตแต่ยังรักษาทางเข้าบริเวณหัวมุมซึ่งเป็นผลงานประดับอาคารดั้งเดิมของซัลลิแวนไว้ ตัวทางเข้าออกแบบเป็นเถาไม้เลื้อยที่ทำจากเหล็กหล่อ ทว่าลวดลายเต็มไปด้วยความซับซ้อน อ่อนช้อย มีความเป็นธรรมชาติซึ่งกลายเป็นจุดเด่นของงานออกแบบของหลุยส์ ซัลลิแวนที่ผสมผสานเทคนิกสมัยใหม่เข้ากับสไตล์ที่นุ่มนวลอ่อนโยน

talk19_02.jpg.jpeg ตรงนี้เองที่เป็นส่วนหนึ่งของข้อสังเกตว่าซัลลิแวนอาจมีแนวโน้มว่ามีร่องรอยของการผสมผสานความเป็นหญิงเข้ากับความเป็นชาย ถ้าเรามองจากยุคนี้อาจพบว่าพ้นสมัยไปแล้ว แต่ถ้าเรามองย้อนไปในบริบทร้อยปีที่แล้ว งานสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมเป็นโลกของผู้ชาย ตึกอาคารมักแสดงถึงความเคร่งขรึม แข็งกร้าว

ในแง่ชีวิตส่วนตัว ซัลลิแวนแต่งงานตอนอายุ 43 ก่อนที่เส้นทางอาชีพจะค่อยๆ เสื่อมถอยลง สุดท้ายหลุยส์ ซัลลิแวนแยกกับภรรยา ในช่วงปลายของชีวิตซัลลิแวนมีสุขภาพค่อนข้างย่ำแย่ มีอาการติดสุราอย่างหนัก สุดท้ายซัลลิแวนเสียชีวิตลงในวัย 67 ปี ในห้องของโรงแรมแห่งหนึ่งในเมืองชิคาโก

สำหรับข้อสันนิษฐานความเป็น LGBT มาจากการสันนิษฐานของนักประวัติศาสตร์รวมถึงผู้เขียนชีวประวัติ ในชีวประวัติ Louis Sullivan: His Life and Work ในปี 1986 เขียนโดย Robert C. Twombly ระบุว่าด้วยหลักฐานเช่นความชื่นชอบในตัววอลท์ วิทแมน กวีอเมริกันที่คาดการณ์ว่าจะเป็นเกย์เช่นเดียวกัน ชีวิตทางสังคมบางด้าน รวมถึงบุคลิกที่ไม่เปิดเผยชีวิตส่วนตัว การผสมผสานความเป็นหญิงและความเป็นชายได้อย่างสลับซับซ้อน การสนใจศึกษาในสรีระของผู้ชาย

talk19_03.jpeg

ในชีวประวัติระบุว่า ‘หลักฐานจำนวนมากชี้ว่าหลุยส์ ซัลลิแวนน่าจะเป็นคนรักเพศเดียวกัน (there is a good deal of evidence to suggest that Louis Sullivan may have been homosexual)’

ภายหลังชุมชน LGBTQ มักจะนับรวมปรามาจาร์ซัลลิแวนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเช่นหนังสือทำเนียบ LGBT ของชิคาโก Out and Proud in Chicago: An Overview of the City’s Gay Community ในปี 2008 ซึ่งซัลลิแวนเองเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ของเหล่าผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในยุคสมัยที่ยังต้องปกปิด ด้วยเรื่องราวและการค้นคว้าในยุคหลัง หลุยส์ ซัลลิแวน ในฐานะผู้ริเริ่มการออกแบบและความคิดเกี่ยวกับอาคารสูง ผู้เป็นอาจารย์ที่เป็นที่รัก ที่ตัวซัลลิแวนเองกลับมีชีวิตและความรุ่งเรืองที่ไม่ยาวนานนัก บางส่วนอาจสัมพันธ์กับชีวิตส่วนตัวที่ยังไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม

อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.villagepreservation.org
https://www.nyclgbtsites.org
https://www.world-architects.com
https://www.mockett.com
http://www.elisarolle.com

เรื่องราวที่คุณอาจสนใจ
ดูทั้งหมด