
หลังจากผ่านหน้าร้อนที่สุดแสนจะร้อนแทบจะไม่อยากออกจากห้องแอร์ไปไหน พร้อมๆ กับการหนาวค่าไฟที่เพิ่มขึ้นทวีคูณ และด้วยการคาดการณ์ต่อไปในอนาคต เรามีสิทธิ์ที่จะสร้างสถิติใหม่ของอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นไปกว่านี้อีก
เราจึงจำเป็นที่จะต้องหาเทคนิคเพื่อการสร้างที่อยู่อาศัย หรือสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยเพิ่มความเย็นในอากาศได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเครื่องปรับอากาศ
การออกแบบเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมเป็นหลักการออกแบบในช่วงหลังสมัยใหม่ (Post-modern) ที่คำนึงถึงบริบทแวดล้อมมากขึ้น ใช้วัสดุท้องถิ่น สร้างพื้นที่ใช้งานที่เหมาะสมกับผู้คนและสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นเมืองร้อน เมืองหนาว ต่างก็มีการออกแบบบ้านและสถาปัตยกรรมเพื่อให้คนอยู่ได้อย่างสบาย และดึงเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น (Vernacular Architecture) มาเป็นแนวคิดหลักของการออกแบบ
เนื่องจากสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเป็นการออกแบบของช่างชุมชนที่เป็นภูมิปัญญาสืบทอดกันมาของแต่ละบริบทพื้นที่ ซึ่งมีความเข้าใจธรรมชาติและสภาพแวดล้อม รวมถึงสอดคล้องกับวิถีชีวิตในอดีต แต่เมื่อเวลาผ่านไปวิถีชีวิตต่าง ๆ ก็เปลี่ยนผันไปตามยุคสมัย การออกแบบสถาปัตยกรรมหลังสมัยใหม่จึงได้หยิบจับเอาหลักการสำคัญของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเหล่านั้นมาออกแบบให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีและวิถีชีวิตของผู้คนปัจจุบัน
เมืองไทยเองก็มักจะออกแบบชานระเบียงที่เปิดรับแดดและฝนเป็นพื้นที่ที่พัดพาลมเข้าสู่พื้นที่ชายคาระเบียงที่ยื่นยาว สร้างอาคารโถงสูงที่ช่วยระบายอากาศภายในอากาศ หรือจะเป็นการวางตำแหน่งห้องให้ห่างออกจากกันและเชื่อมกันด้วยระเบียงก็ด้วยเหตุผลของการระบายอากาศเช่นกัน การยกพื้นที่จากพื้นที่ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้ลมผ่านจากพื้นที่ด้านล่างขึ้นมาสู่พื้นที่ใช้งานได้
การออกแบบเหล่านี้ล้วนเป็นภูมิปัญญาของการออกแบบสถาปัตยกรรมไทย ที่จะเป็นแนวทางสำคัญต่อการพัฒนารูปแบบสถาปัตยกรรมปัจจุบันให้ช่วยรองรับกับสภาพอากาศร้อน และคาดว่าจะร้อนขึ้นไปอีกในอนาคต
และในปัจจุบันการออกแบบสถาปัตยกรรมต่างก็สนับสนุนให้คำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น เช่น การได้รับการรับรองอาคารสีเขียว การการันตีความยั่งยืนของอาคาร เป็นต้น จึงต้องอาศัยการออกแบบที่ช่วยให้เกิดความยั่งยืนมากขึ้น
ในบทความนี้เราจึงอยากชวนดูเทคนิคออกแบบสถาปัตยกรรมที่ช่วยลดความร้อน เพิ่มความเย็นให้กับอาคารเพื่อลดความร้อนที่จะกระทบกับตัวอาคารโดยตรง หรือที่เรียกว่าเทคนิค passive cooling มาผสมผสานกับภูมิปัญญาการออกแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ที่จะช่วยให้บ้านของเราเย็นลง และอยู่สบายมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่เทคนิคการก่อสร้าง การใช้เทคโนโลยี ไปจนถึงการออกแบบเพิ่มสวนหลังคาและพื้นที่สีเขียวโดยรอบอาคาร
1. Facade บดบังแสงแดดเข้าสู่อาคาร
การออกแบบฟาซาด หรือ เปลือกอาคาร ปัจจุบันมักจะออกแบบเป็นแผงเพื่อสร้างความสวยงามให้กับตัวอาคาร ฟาซาดสามารถแสดงเอกลักษณ์ ลวดลาย ให้เกิดความแตกต่างกันของอาคารแต่ละหลัง และเป็นที่น่าจดจำได้

และยิ่งไปกว่านั้นการออกแบบฟาซาดเป็นการเพิ่มพื้นที่บดบังการส่องถึงของแสงแดดเข้าสู่อาคาร ช่วยลดความร้อนได้ และในอาคารที่ไม่ใช้เครื่องปรับอากาศก็ช่วยให้ลมสามารถพัดผ่านเข้าสู่อากาศได้
ในการออกแบบฟาซาดนั้นจึงจะสอดคล้องไปกับช่องเปิดของอาคาร ทิศทางลม ทิศทางของแสงแดดที่จะทำให้ฟาซาดมีฟังก์ชั่นการใช้งานที่เป็นประโยชน์ต่อตัวอาคาร และด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันก็จะช่วยเพิ่มกระบวนการของการออกแบบฟาซาดให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น
2. เพิ่มพื้นที่ Shading ให้กับตัวอาคาร
การเพิ่มพื้นที่ร่มและเงาให้กับส่วนที่เชื่อมต่อกับตัวอาคาร พื้นที่ระเบียงที่มีชายคายื่นยาว ทำให้เกิดระยะจากแสงแดดที่ส่องไม่ถึงภายในอาคาร ทำให้ลดความร้อนจากแสงแดดได้โดยตรง

การเพิ่มร่มเงายังเป็นการสร้างพื้นที่น่าสบายต่อการใช้งานระหว่างภายในบ้านและภายนอกบ้านได้เป็นอย่างดี จะสังเกตว่าเดิมทีชีวิตประจำวันของคนไทยส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณระเบียงที่ต่อเนื่องจากภายในอาคาร ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของความเป็นส่วนตัว แต่สำคัญคือเป็นพื้นที่ที่กันแดดกันฝนได้ ไม่มืดและไม่สว่างเกินไป และมีลมพัดผ่าน จึงเป็นพื้นที่ของการอยู่อาศัยในช่วงกลางวันได้เป็นอย่างดี
3. Courtyard เพิ่มลมและสร้างบรรยากาศน่าสบาย
พื้นที่ล้อมคอร์ดเป็นการเว้นว่างพื้นที่กลางอาคาร หรือการจัดวางตำแหน่งอาคารให้เกิดการล้อมรอบให้เกิดพื้นที่ตรงกลางหรือระหว่างอาคารที่มีขนาดไม่เล็กเกินไป เป็นการสร้างช่องเปิดกลางอาคารที่ทำให้เกิดการไหลเวียนของลมที่พัดพาจากภายนอกเข้าสู่ภายในอาคารได้ง่าย

การเพิ่มพื้นที่คอร์ดยาร์ดนั้นยังช่วยให้เกิดพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่ใช้งานภายนอกอาคารอีกแห่งหนึ่งที่ช่วยสร้างบรรยากาศของการใช้งานภายในอาคารให้เกิดความร่มรื่น น่ามอง และได้แสงแดดส่องเข้าสู่กลางอาคารได้ สัมผัสกับธรรมชาติได้โดยตรง
4. ใช้วัสดุธรรมชาติในการออกแบบ
นอกจากการออกแบบพื้นที่ ตัวอาคาร สถาปัตยกรรมที่สร้างความเย็นให้กับตัวอาคารแล้วนั้น วัสดุการก่อสร้างอาคารก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้เกิดภาวะน่าสบายภายในบ้านได้ เช่น บ้านดิน บ้านไม้ มักจะเป็นวัสดุท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่ที่นิยมนำมาสร้างบ้านเรือน ที่ช่วยทำให้เกิดความเย็นจากวัสดุเหล่านั้นได้

วัสดุธรรมชาติจะทนทานต่อความร้อนได้ดี มันจะดูดซับและคายความร้อนได้อย่างรวดเร็ว แต่เดิมเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายและก่อสร้างได้รวดเร็ว แต่ก็มีข้อเสียคือมีอายุการใช้งานที่สั้น มักจะต้องมีการดูแลรักษาอยู่เป็นประจำ บ้านดินเป็นตัวอย่างหนึ่งของการใช้วัสดุที่ทำให้ภายในอาคารเย็นสบาย แต่ก็ต้องมีการดูแลรักษามากพอสมควร การใช้วัสดุธรรมชาติในการก่อสร้างอาคารปัจจุบันจึงไม่นิยมมากนัก ประกอบกับหายากและมีราคาแพงมากขึ้นในปัจจุบัน
5. ออกแบบพื้นที่สีเขียวล้อมรอบอาคาร
การออกแบบอาคารที่ช่วยให้เกิดความเย็นภายในอาคารจากข้างต้นทั้งหมด จะยังไม่สมบูรณ์หากขาดการออกแบบพื้นที่โดยรอบอาคารที่เอื้อให้เกิดปรากฏการณ์เหล่านั้น

การมีพื้นที่ต้นไม้ใหญ่ สระน้ำ ลมจะพัดพาเอาความเย็นจากร่มเงาของต้นไม้และความเย็นจากน้ำเข้าสู่อาคารได้ และยังต้องคำนึงถึงตำแหน่งการจัดวางองค์ประกอบทางภูมิทัศน์เหล่านี้ที่จะต้องเอื้ออำนวยกับการออกแบบสถาปัตยกรรมด้วย เช่น การมีช่องทางลมที่พัดผ่านสระน้ำเข้าสู่ช่องเปิดของอาคารที่ออกแบบไว้
การมีพื้นที่สีเขียวรอบบ้านจึงหมายถึงการสร้าง micro climate ของพื้นที่ ถึงแม้ว่าสภาพอากาศโดยรวม หรือ macro climate จะร้อนเพียงใด พื้นที่สีเขียวก็จะช่วยบรรเทาและควบคุมให้สภาพอากาศรอบบ้านนั้นร้อนน้อยลง ยิ่งมีองค์ประกอบของภูมิทัศน์มากยิ่งจะทำให้เกิดความสบายภายในอาคารมากขึ้นตามไปด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://media.biltrax.com
https://www.archdaily.com