14 ธันวาคม 2566

ถ้าผังเมืองดี ชีวิตก็ดี

NB Content_Talk of the town-01.jpg

เมืองบาร์เซโลนาปรับเปลี่ยนพื้นที่ถนนสำหรับรถยนต์ สู่การเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับการเดิน และจักรยาน และพื้นที่สีเขียวสำหรับผู้พักอาศัยในเมือง ด้วยโครงการ ‘ซุปเปอร์บล็อก’ ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างเมืองน่าอยู่ให้กับกลุ่มคนทุกกลุ่ม และทุกเพศทุกวัย

เมื่อพูดถึงบาร์เซโลนา หลายคนอาจจะนึกถึงโบสถ์ Sagrada Familia ที่ก่อสร้างมายาวนานกว่า 100 ปีสูงโดดเด่นอยู่กลางเมือง ซึ่งเป็นบล็อกหนึ่งของกริดเมืองที่เมื่อมองจากด้านบนจะเห็นได้ว่า เมืองบาร์เซโลนามีความเป็นกริดสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเท่า ๆ กันเกือบทั้งเมือง ชวนให้เราสงสัยว่าอะไรทำให้การวางผังจนเกิดเป็นเส้นตรงแบบนี้ แต่อย่างไรก็ตาม จากยุคเริ่มต้นของการวางผังเมืองแบบกริดและการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว ทำให้เมืองเกิดปัญหามากมายทั้งการอพยพเข้าเมือง มลภาวะของเมือง บรรยากาศของเมืองที่เต็มไปด้วยฝุ่นควัน จนกระทั่งทศวรรษ 1980 ที่ทำให้เกิดแนวคิดซุปเปอร์บล็อกขึ้น ที่เริ่มต้นมาจากมลภาวะทางเสียงก่อน จะลามไปถึงปัญหาเมืองในเรื่องอื่น ๆ และยังคงพัฒนาแนวคิดให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงสมัยอย่างต่อเนื่อง

ซุปเปอร์บล็อก เป็นแนวคิดแบบ Tactical Urbanism การเปลี่ยนเมืองแบบยุทธศาสตร์โดยมีหัวใจหลักคือ ‘ต้องง่าย ใช้เวลาน้อย ราคาไม่แพง และปรับใช้กับพื้นที่ได้หลากหลายขนาดและรูปแบบ’ โดยซุปเปอร์บล็อกนั้นถูกพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยระยะเวลาเพียง 3-4 ปี ก็มีถึง 500 บล็อก ซึ่งเริ่มต้นจากการปิดเส้นทางจราจรที่ผ่านบล็อก รวม 9 บล็อกเล็ก ๆ ให้กลายเป็นบล็อกใหญ่ 1 บล็อก ซึ่งก็เรียกว่า ซุปเปอร์บล็อก นั่นเอง หลังจากการปิดถนน พื้นที่ภายในซุปเปอร์บล็อกก็ได้กลายเป็นพื้นที่ทางเดิน พื้นที่นั่งพักผ่อน มีต้นไม้ให้ร่มเงา พื้นที่สนามเด็กเล่น ไปจนถึงการเป็นพื้นที่กิจกรรมการแสดงต่าง ๆ ของเมืองได้ การทำซุปเปอร์บล็อกจึงเป็นการเพิ่มพื้นที่พบปะผู้คน เพิ่มพื้นที่ทางเท้าให้กว้างขึ้น เพิ่มพื้นที่สีเขียวที่มากขึ้น และเน้นการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ

NB Content_Talk of the town-03.jpg

ซุปเปอร์บล็อกเกิดขึ้นได้อย่างไร 

ในช่วงทศวรรษ 1980 Salvador Rueda ผู้อำนวยการด้านสิ่งแวดล้อมของสภาเมืองบาร์เซโลนา ณ ขณะนั้น ได้เล็งเห็นปัญหามลพิษทางเสียงของเมือง เนื่องจากเมืองมีความหนาแน่นไปด้วยผู้คน และรถรามากมาย เกิดการเปลี่ยนแปลงอาคารเป็นอาคารขนาดใหญ่ ส่งผลให้ราคาที่ดินและที่อยู่อาศัยสูงขึ้น กระทบต่อกลุ่มคนผู้มีรายได้น้อยในเมืองและปัญหาเชิงสังคมเป็นทอดๆ จึงได้จัดทำแผนที่ระดับเสียงในเมืองขึ้น และพบว่ากว่าร้อยละ 50 ของเมืองมีระดับเสียงเฉลี่ยสูงถึง 65 เดซิเบล ซึ่งเป็นระดับที่หากคนเราได้ยินติดต่อกันเป็นเวลานานอาจส่งผลต่อการได้ยิน โดยเสียงส่วนใหญ่นั้นมาจากรถยนต์บนท้องถนน

Rueda จึง ได้เสนอแนวคิดซุปเปอร์บล็อกเพื่อลดเสียงรบกวนจากรถยนต์เหล่านั้นด้วยการปิดกั้นการเข้าถึงการจราจรที่มันพรุนไปทั้งเมืองให้เข้าถึงได้เฉพาะเส้นทางรอบนอกก่อน แต่ก็มีแผนการจัดการอื่น ๆ มารองรับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ด้วย ซึ่งในช่วงแรกโครงการนี้ถูกต่อต้านจากคนผู้ใช้รถ ใช้ถนน เพราะกระทบต่อวิถีชีวิตปกติของตนเอง ทางโครงการจึงได้เริ่มทำกระบวนการการมีส่วนร่วมร่วมกับประชาชน เพื่อสร้างความเข้าใจ วางเป้าหมายและแนวทางร่วมกัน เมื่อจัดทำซุปเปอร์บล็อกได้ในช่วง 18 เดือนแรก และเห็นผลการเปลี่่ยนแปลง ผู้คนจึงยอมรับในแนวคิดนี้มากขึ้น เพราะการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้บังคับให้ทุกคนเปลี่ยนอย่างเดียว แต่รัฐได้ออกแบบแผนการจัดการ สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ มาประกอบกับการปรับพื้นที่ไปด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโครงการจะผ่านมากว่า 40 ปี และเป็นแผนการพัฒนาของเมืองในระยะยาว ก็ยังมีการคัดค้านการทำโครงการเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของเมืองและเทคโนโลยีต่าง ๆ เพิ่มขึ้น จึงมีการปรับเปลี่ยนฟังก์ชั่นบางอย่าง เช่นการเพิ่มเติม Green Axles ที่ไม่ได้ปิดการจราจรแต่เป็นการออกแบบถนนให้มีความหลากหลายมากขึ้น บางเส้นรองรับกับการสัญจรได้หลายรูปแบบและเป็นเส้นทางสีเขียวไปพร้อม ๆ กัน บางเส้นเป็นถนนชุมชนปิดบางเวลา บางเส้นเปิดและมีลำดับของการใช้งานที่ชัดเจนแบบแบ่งๆ กันใช้ โดยยังคงแนวคิดซุปเปอร์บล็อกเดิมไว้

NB Content_Talk of the town-04.jpg

การเปลี่ยนเมืองแบบซุปเปอร์บล็อก

ยุทธศาสตร์แรกที่ถูกนำมาใช้ คือการปิดกั้นการทะลุผ่านของถนน ด้วยการวางป้ายให้รถยนต์ รถจักรยานยนต์ใช้เส้นทางอื่นแทน และรัฐได้ส่งเสริมการสัญจรทางเลือกอื่น ๆ แทน ระบบการสัญจรที่สำคัญที่สุดของแนวคิดซุปเปอร์บล็อกไม่ใช่การเดินหรือจักรยาน แต่เป็นรถประจำทางที่รองรับจำนวนผู้โดยสารได้มากและไม่ต้องใช้โครงสร้างใหญ่ๆ เพื่อมารองรับเหมือนระบบราง ซึ่งมองว่าเป็นระบบที่ช่วยลดการใช้รถยนต์ได้จริง ๆ จึงเป็นรูปแบบแรกๆ ที่ได้รับการปรับเปลี่ยนและวางแผนโครงข่ายการสัญจรใหม่ทั้งเมือง เพื่อให้เกิดความครอบคลุมในการเข้าถึงพื้นที่ และเข้าถึงได้ทุกกลุ่มประชากร 

หลังจากนั้นจึงไปสู่การวางผังเส้นทางสำหรับจักรยานและการเดินทางขนาดย่อมเพิ่มเติม โดยยังคงให้ความสำคัญกับการเดินเป็นหลัก นั่นหมายถึงการออกแบบทางเท้าที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการเดิน และการสัญจรขนาดเล็ก ส่วนเส้นทางจักรยานได้ออกแบบผสานไปกับเส้นทางถนนสายหลักที่เป็นถนนรอบนอกของเมือง การออกแบบถนนจึงต้องรู้ปริมาณของจำนวนรถยนต์ รถจักรยาน รถบัสประจำทางที่ใช้ เพื่อออกแบบถนนให้เหมาะสม เพื่อความน่าอยู่และส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ของผู้คนในเมือง 

นอกจากนี้ยังมีการขยับให้ถนนหลักไปอยู่รอบนอกเเพื่อกระจายความหนาแน่นของการจราจรภายในเมือง หรือ Traffic Evaporation ไปด้วย ซึ่งจะทำให้จำนวนรถยนต์ในเมืองลดลงได้ พร้อมออกแบบถนนให้คนขับรถช้าลง ผ่านการใช้สตรีทเฟอร์นิเจอร์ การเพิ่มร่มเงาให้เกิดความร่มรื่น ทำให้คนขับคำนึงว่าบนนถนนไม่ได้มีเพียงแค่รถยนต์แต่จำเป็นต้องนึกถึงคนเดินเท้าที่ใช้ถนนร่วมกันด้วย 

ส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งคือการสร้างและออกแบบพื้นที่สำหรับการใช้งาน เป็นพื้นที่สาธารณะ ส่งเสริมให้เกิดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เป็นพื้นที่น่าสบายและปลอดภัยต่อการใช้งาน เพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างร่มเงาให้กับเมือง การออกแบบพื้นที่เหล่านี้ต้องการการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมของผู้อยู่อาศัยในละแวกนั้นที่จะตอบโจทย์กับความต้องการของชุมชน และจะทำให้พื้นที่สาธารณะนั้นเกิดการใช้งานจริง มิติของการออกแบบพื้นที่เป็นสิ่งที่จะต้องใช้พลังการทำงานแบบ Bottom-up แต่อีกส่วนหนึ่งก็ต้องการการควบคุมในเชิงผังเมืองด้วย โดยสิ่งที่รัฐทำคือการควบคุม กระตุ้น และส่งเสริมให้เกิดความหลากหลายของเศรษฐกิจในย่านนั้นๆ ควบคุมรูปแบบกิจการ ออกกฎและข้อบังคับต่อธุรกิจบางประเภท เช่น ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ร้านบริการ ร้านของสด ฯลฯ ที่ให้จำกัดจำนวน 5 ร้านในระยะ 50 เมตร หรือ 18 ร้านในระยะ 100 เมตร

การบังคับให้แต่ละซุปเปอร์บล็อกมีจำนวนธุรกิจและร้านค้านั้น เป็นการสร้างความหลากหลายของร้านค้าในย่านนั้น ที่จะไม่กระทบต่อการเปลี่ยนแปลงย่าน ตลอดจนวิถีชีวิตของผู้คนที่อยู่อาศัย และยังกระตุ้นให้เกิดธุรกิจประเภทใหม่ ๆ ที่แตกต่างจากรูปแบบเดิมๆ ให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตของผู้คนในละแวกนั้นมากที่สุด และประเด็นสำคัญของการควบคุมอีกอย่างหนึ่งคือการป้องกันการเปลี่ยนแปลงและเข้าแทนที่ของผู้คนในย่านนั้น หรือเรียกว่า Gentrification คือเมื่อย่านได้รับการพัฒนาใหม่และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้นักธุรกิจ นักลงทุนจากภายนอกเข้ามาซื้อที่ดิน อาคารบ้านเรือนในย่านนั้น และทำธุรกิจใหม่ในย่าน ทำให้ผู้คนในย่านอพยพออกไปยังพื้นที่อื่น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของย่านท่องเที่ยวมากกว่าพื้นที่อยู่อาศัย ซุปเปอร์บล็อกจึงมีการควบคุมความหลากหลายทางเศรษฐกิจในย่าน พร้อมกระจายแนวคิดนี้ไปในพื้นที่อื่นๆ ของเมืองอย่างทั่วถึง และส่งเสริมการมีที่อยู่อาศัยที่รัฐอุดหนุน (Public Housing) มากขึ้น เพื่อให้ลดการเกิด Gentrification 

Superblock.jpg

ประโยชน์และการปรับใช้ 

การพัฒนาซุปเปอร์บล็อกไม่ได้ผลักภาระไปที่คนที่ใช้รถยนต์อย่างเดียว แต่ได้สร้างทางเลือกอื่น ๆ ให้ผู้คนได้ใช้งานพื้นที่เมืองร่วมกัน ถนนไม่ได้จำเพาะสำหรับรถยนต์เท่านั้น คนเดิน คนปั่นจักรยาน คนใช้สกู๊ดเตอร์ หรือเด็กๆ ที่อยากวิ่งเล่น ต่างก็ได้ใช้พื้นที่ถนนที่เป็นพื้นที่เปิดโล่งของเมืองได้อย่างเท่าเทียมกัน ไปจนถึงการออกแบบถนนและโครงข่ายการสัญจรสาธารณะ การวางแผนการบริหารจัดการที่สอดรับไปกับการพัฒนากายภาพของเมืองก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ทำให้การเปลี่ยนพื้นที่ไม่ส่งผลกระทบอย่างแรงต่อวิถีชีวิตของผู้คน แต่ช่วยสร้างทางเลือกกับการแก้ปัญหานั้นให้หลากหลายมากขึ้น และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการใช้งานไปในที่สุด

นอกจากการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมแล้ว ซุปเปอร์บล็อกยังช่วยลดประเด็นปัญหาในมิติต่าง ๆ ของเมืองใหญ่ๆ ได้ ตั้งแต่ประเด็นสิ่งแวดล้อมที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดความร้อนในเมือง ลดมลพิษทางอากาศจากฝุ่นควันของรถยนต์ และลดมลพิษทางเสียง ซึ่งสอดคล้องไปกับการมีพื้นที่สาธารณะ พื้นที่สีเขียว ที่ผู้คนเข้ามาใช้งานได้ มีกิจกรรม เป็นพื้นที่พบปะสังสรร เกิดปฏิสัมพันธ์กันของผู้คนในเมือง สร้างชุมชนขนาดเล็กในเมือง มีความปลอดภัยจากการจราจร อีกทั้งการเดินส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจระดับย่าน การเดินที่ช้าลงทำให้เราสนใจร้านค้าริมทาง หยุดพักแวะซื้อของกันมากขึ้น ซึ่งประโยชน์เหล่านี้ล้วนเป็นการส่งเสริมให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คนในเมืองทั้งสิ้น

การปรับใช้แนวคิดซุปเปอร์บล็อกกับเมืองอื่น ๆ ทั่วโลกก็เป็นที่ถกเถียงกันว่าเหมาะสมกับเมืองนั้น ๆ หรือไม่ หรือต้องมีลักษณะการวางผังเมืองเป็นกริดเท่านั้น ซึ่งได้เปลี่ยนแนวคิดของซุปเปอร์บล็อกให้มีความเป็นสากลมากขึ้น โดยจะต้องมีประเด็นในการคำนึงถึงเมื่อนำแนวคิดนี้ไปปรับใช้กับเมืองนั้น ได้แก่ รูปแบบการเดินทางนั้นจะต้องถูกออกแบบและวางแผนโครงข่ายใหม่ ลักษณะโครงสร้างและพื้นที่เมืองที่เหมาะสมกับการใช้แนวคิดนี้ ความต้องการของผู้คน และการสร้างทางเลือกของการเดินทางที่ง่ายและไปถึงจุดหมายปลายทางได้เร็วที่สุด ประเด็นการพัฒนาแบบซุปเปอร์บล็อกจึงขยายออกไปสู่เมืองต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งเมืองที่เป็นกริดและไม่เป็นกริดก็สามารถปรับใช้แนวคิดนี้ได้ ที่เริ่มต้นง่าย ๆ จากการปิดถนน และสร้างกิจกรรมการใช้งานใหม่ๆ แต่ยังไม่มีการขยายผลและเห็นภาพได้ชัดเจนเท่าเมืองบาร์เซโลนา

NB Content_Talk of the town-05.jpg

อ้างอิงข้อมูลจาก
https://geographyfieldwork.com/barcelona.htm
https://www.barcelona.cat/pla-superilla-barcelona/en
https://www.citiesforum.org

เรื่องราวที่คุณอาจสนใจ
ดูทั้งหมด