Post_05_web.jpg

หนังที่เล่าเรื่องวันธรรมดาที่ไม่ธรรมดาของคนขัดห้องน้ำอย่าง “Perfect Days” ได้เข้าฉายในจอภาพยนตร์บ้านเราเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำให้แผนการเที่ยวของหลายๆ คน ต้องเปลี่ยนเป็นการตามรอยหนึ่งในตัวละครที่สำคัญที่สุดในเรื่องอย่าง “ห้องน้ำสาธารณะ” หนึ่งในตัวเอกของผู้กำกับชาวเยอรมันชั้นครูอย่าง “Wim Wenders”

บรรดาห้องน้ำสาธารณะหลากสไตล์ที่คุณลุงฮิรายามะ คนทำความสะอาดห้องน้ำในกรุงโตเกียว ที่ต้องตื่นเช้าไปทำความสะอาดในทุกๆ วัน ไม่ใช่แค่ห้องน้ำธรรมดาๆ ทั้วไป แต่เป็นห้องน้ำที่รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งใจรีโนเวทขึ้นใหม่ในช่วง “2020 Summer Olympics” ภายใต้ชื่อโครงการ “The Tokyo Toilet” ที่ถูกริเริ่มโดย “มูลนิธินิปปอน” (The Nippon Foundation) มูลนิธิที่สนับสนุนการพัฒนาด้านสาธารณสุข สวัสดิการทางสังคม และการพัฒนาทางทะเล ร่วมมือกับสำนักงานเขตชิบูย่า (Shibuya City Government) และสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวชิบูย่า (Shibuya Tourism Association) เพื่อปรับปรุงห้องน้ำสาธารณะในย่านชิบูย่าให้ดูน่าใช้งาน พร้อมเปิดโอกาสให้คนทุกเพศทุกวัยใช้งานได้อย่างสะดวกสบาย ถือเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ความเอาใจใส่ของชาวญี่ปุ่น และเฉลิมฉลองความหลากหลายของผู้คน โดยรวบรวมสถาปนิกและนักออกแบบระดับโลกถึง 17 คน มาช่วยกันดีไซน์ห้องน้ำใหม่ไว้ถึง 17 แห่งเลยทีเดียว

ก่อนหน้านี้ ห้องน้ำสาธารณะในโตเกียวเคยได้ถูกวิจารณ์ว่าไม่เป็นมิตรกับผู้ใช้งาน เพราะทั้งมืด สกปรก และดูอันตราย ไม่น่าไว้ใจ การปรับปรุงครั้งนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ของห้องน้ำสาธารณะในโตเกียวให้สวยงามมากขึ้น และมีความสะดวกต่อการใช้งาน ห้องน้ำทั้ง 17 แห่งเหล่านี้ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโตเกียวที่หลายๆ คนยกย่องให้เป็นเหมือนงานศิลปะชิ้นไปโดยปริยาย

Jingu-Dori Park Toilet by Tadao Ando



talk9_01.jpg

ห้องน้ำแห่งนี้ คือห้องน้ำแห่งแรกที่เราเลือกไปตามรอย ซึ่งห้องน้ำที่มีสองทางเข้าแห่งนี้ ถูกออกแบบโดย ทาดาโอะ อันโดะ (Tadao Ando) สถาปนิกรุ่นใหญ่ชาวญี่ปุ่นที่ต้องการใช้พื้นที่เล็ก ๆ สร้างเป็นห้องน้ำที่คุ้มค่า เหมาะสมกับทุกคน และที่สำคัญที่สุด คือต้องใช้งานได้แบบสบายๆ ปลอดภัย ทาดาโอะ อันโดะ เลยเลือกสร้างห้องน้ำผังวงกลม ที่มีทางเข้าสองทาง ไม่ว่าจะเดินมาจากทางไหนก็เข้าทางที่ใกล้ที่สุดได้เลยไม่ต้องอ้อม และแยกทางเข้าห้องน้ำชาย หญิง และห้องน้ำสำหรับทุกคนอย่างชัดเจน

เข้ามาข้างใน จะเห็นการเลือกใช้ระแนงอลูมิเนียมโดยรอบ ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นส่วนตัว แต่ยังสามารถมองเห็นระหว่างภายนอกและภายในได้ และยังช่วยการระบายอากาศ และการนำแสงธรรมชาติให้เข้ามายังพื้นที่ภายใน ส่วนพื้นที่ทางเดินรอบๆ ภายนอกที่อยู่ภายใต้หลังคานั้น เปรียบเสมือนพื้นชานภายนอกบ้านแบบบ้านญี่ปุ่น หรือ “Engawa” ที่ช่วยขยายขอบเขตของห้องน้ำให้ต่อเนื่องไปกับสวนภายนอก และยังให้ผู้ใช้งานสามารถยืนพักชมสวน หรือเป็นศาลาพักรอช่วงฝนตกก็ยังได้

The House, Jingumae by NIGO



talk9_02.jpg

NIGO ถ่ายทอดความผูกพันธ์ที่มีต่อย่านชินจูกุด้วยการออกแบบห้องน้ำให้เป็นรูปทรงบ้านหลังเล็กน่ารักๆ ที่อ้างอิงหน้าตาของบ้านใน Washington Heights หมู่บ้านทหารอเมริกันที่เคยตั้งอยู่บริเวณสวนสาธารณะ Yoyogi ในปัจจุบัน ถือเป็นการถ่ายทอดเกร็ดประวัติศาสตร์ผ่านงานออกแบบได้น่าสนใจ ไม่เพียงเท่านั้น ห้องน้ำหลังนี้ยังมีดีเทลกระจุกกระจิกที่เติมแต่งให้ห้องน้ำดูเป็นมิตรมากขึ้น อย่างเช่นรั้วขนาดเล็กที่ล้อมโดยรอบ หรือประตูด้านหน้าห้องน้ำที่ตั้งใจให้เปิดตลอดเวลา

“The Mushroom Toilet”, Yoyogi-Hachiman by Toyo Ito



talk9_03.jpg

ห้องน้ำแห่งนี้เป็นผลงานการออกแบบของ โตโย อิโต้ (Toyo Ito) ที่ตั้งใจออกแบบห้องน้ำให้เป็นรูปเห็ด เพราะเป็นห้องน้ำที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ ศาลเจ้าโยโยกิ-ฮาจิมัน ที่มีความร่มรื่นของป่าไม้อยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ จึงตั้งใจออกแบบห้องน้ำแห่งนี้ให้มีลักษณะคล้ายเห็ดสามดอกที่งอกออกมาจากป่ารอบๆ ศาลเจ้า ให้ดูกลมกลืนไปกับทัศนียภาพดั้งเดิมของป่าด้านหลัง ไม่เพียงเท่านั้นเขายังตั้งใจตั้งห้องน้ำสามห้องแยกออกจากกัน และสร้างทางเดินระหว่างกันให้สามารถเดินเวียนได้ทั่ว อย่างไร้ทางตัน เพื่อสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้กับผู้ใช้งาน และยังป้องกันอาชญากรรมที่เกิดจากการดักตามมุมอับต่างๆ ได้อีกด้วย

Yoyogi Fukamachi Mini Park Toilet by Shigeru Ban



talk9_04.jpg

ห้องน้ำโปร่งใสแห่งนี้ ตั้งอยู่ที่สวนสาธารณะ “Yoyogi Fukamachi Mini Park” ภายในเมืองชิบูย่า ที่มีดีไซน์ที่แสนเก๋และแหวกแนว เพราะสามารถมองทะลุปรุโปร่งเข้าไปได้ทั้งหมดเลยจริงๆ ซึ่งหลายคนอาจรู้สึกลังเลที่จะเข้าไปทำธุระ โดยคนที่ออกแบบห้องน้ำแห่งนี้ คือ “ชิเกรุ บัน” สถาปนิกชาวญี่ปุ่น ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากความไม่ไว้ใจของคนใช้ห้องน้ำสาธารณะ ที่ไหนจะหวาดระแวงเรื่องความสะอาดแล้ว ยังสงสัยด้วยว่ายังมีคนอยู่ในห้องน้ำไหม หรือมีใครไม่น่าไว้ใจซ่อนตัวอยู่หรือไม่

ดังนั้นเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับคนที่ใช้ห้องน้ำสาธารณะมากขึ้น ชิเกรุ บัน เลยออกแบบห้องน้ำโปร่งใส ที่ทุกคนสามารถมองเห็นได้แต่ไกล ว่าภายในห้องน้ำนั้นมีคนอยู่หรือไม่ และสกปรกหรือเปล่า พออ่านมาถึงตรงนี้ คุณอาจรู้สึกงงว่า สรุปเราจะเข้าห้องน้ำแห่งนี้ได้อย่างไร ทั้งๆ ที่คนภายนอก สามารถมองเห็นทุกอย่างได้ชัดเจนขนาดนี้ แต่ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะเมื่อเข้าไปในห้องน้ำแล้วกดล็อก กระจกจะเปลี่ยนเป็นทึบให้เลยโดยอัตโนมัติ

Andon Toilet, Nishihara Itchome Park by Takenosuke Sakakura



talk9_05.jpg

ห้องน้ำที่ “Nishihara Itchome Park” ก็เป็นจุดที่น่าไปตามรอยมากๆ โดยเฉพาะในช่วงกลางคืน เพราะ Takenosuke Sakakura สถาปนิกที่ออกแบบห้องน้ำแห่งนี้ ตั้งใจให้พื้นที่มีลักษณะเหมือน “Andon” (行灯) ซึ่งเป็นคำในภาษาญี่ปุ่นหมายถึงตะเกียงไฟกระดาษรูปทรงสี่เหลี่ยมแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น เมื่อเวลาค่ำคืนมาเยือน ห้องน้ำทรงกระจกสี่เหลี่ยมแห่งนี้ ก็จะทำหน้าที่เหมือนตะเกียงที่มอบแสงสว่างให้กับพื้นที่สวนสาธารณะเล็กๆ เช่นกัน กลายเป็นว่าสวนสาธารณะก็ดูปลอดภัยน่าใช้งานตามไปด้วย นอกจากนั้น เมื่อเข้าไปในห้องน้ำและปิดประตูห้องเรียบร้อย เราก็จะเห็นลายพิมพ์ต้นไม้ด้านใน ทำให้บรรยากาศภายในห้องน้ำดูผ่อนคลายยิ่งขึ้น

เดิมทีห้องน้ำแห่งนี้ไม่ค่อยมีคนมาใช้มากนัก Sakakura เลยตั้งใจออกแบบพื้นที่ต่างๆ ให้มีความสวยงามและน่าดึงดูดมากขึ้น เพื่อให้ทุกคนอยากเข้ามาใช้งานห้องน้ำแห่งนี้กันอีกครั้ง และอีกจุดเด่นก็คือห้องน้ำทั้งสามห้องเป็นห้องน้ำแบบ unisex ตอบรับแนวคิดความหลากหลายของผู้คนได้เป็นอย่างดี

Modern Kawaya Toilet by Masamichi Katayama/Wonderwall



talk9_06.jpg

ห้องน้ำแห่งนี้คือห้องน้ำที่ทาง Wonderwall และ Masamichi Katayama สถาปนิกชาวญี่ปุ่น ตั้งใจออกแบบให้เป็นเหมือนวัตถุๆ หนึ่งที่ถูกวางไว้อย่างไม่เป็นทางการบนสวนสาธารณะอิบิสึ เสมือนเป็นม้านั่ง ต้นไม้ หรืออุปกรณ์ในสนามเด็กเล่น ห้องน้ำแห่งนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากห้องน้ำแห่งแรกๆ ของญี่ปุ่นที่เรียกว่า “Kawaya” ซึ่งถือกำเนิดขึ้นมาในยุคหินใหม่ มีลักษณะเป็นกระท่อมที่สร้างขึ้นมาจากดินแข็ง หรือท่อนไม้ที่ผูกติดกัน ต่อมาสำนัก Wonderwall นั้น ได้นำมาดัดแปลงเป็นห้องน้ำในแบบฉบับของตัวเอง ด้วยการใช้ผนังคอนกรีตจำนวน 15 แผ่นมาประกอบเข้าด้วยกัน และเมื่อเข้ามาด้านในแล้ว ช่องว่างระหว่างกำแพงยังนำสามารถทางผู้ทำธุระ ไปยังพื้นที่ที่แตกต่างกันถึงสามแห่ง ได้แก่ห้องน้ำชาย ห้องน้ำหญิง และทุกคน ผู้ใช้จึงสามารถเล่นสนุกกับพื้นที่นี้ได้ (ในเวลาที่เหมาะสม) ไม่ต่างจากบริเวณอื่นๆ ของสวนสาธารณะ

Higashi Sanchome Toilet by Nao Tamura



talk9_07.jpg

ถ้าผลงานห้องน้ำของ Wonderwall เน้นความกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม ห้องน้ำหลังนี้จาก Nao Tamura ก็ถือว่าตรงข้ามแบบคนละขั้วกันเลยทีเดียว เพราะห้องน้ำนี้ถูกแต่งด้วยสีแดงอันจัดจ้าน โดดเด่นจากสิ่งแวดล้อมรอบข้างอย่างเห็นได้ชัด ส่วนการออกแบบห้องน้ำแห่งนี้ ได้แรงบันดาลใจจากวิธีพับกระดาษห่อของขวัญแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมที่เรียกว่า “Origata” วางในลักษณะเฉียงช่วยแยกทางเข้าของห้องน้ำทั้งสามออกจากกัน โดยแต่ละห้องจะมีพื้นที่ปิดล้อมสามเหลี่ยมเล็กๆ อยู่ด้านหน้าทางเข้า เพื่อทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกปลอดภัยและมีความเป็นส่วนตัวก่อนเข้าไปใช้บริการ

ห้องน้ำแห่งนี้ ถูกสร้างจากแผ่นเหล็กที่มีความบางพร้อมเส้นสายที่มีความแหลมคมที่สื่อถึงการพับกระดาษ ส่วนสีแดงอันเตะตา ก็มาจากความตั้งใจของนักออกแบบที่อยากให้ห้องน้ำแห่งนี้เป็นที่สังเกตได้ง่าย หากเกิดเหตุท้องไส้ปั่นป่วนขึ้นมาก็จะรู้ทันทีว่าต้องวิ่งไปที่ไหน และแสดงถึงความเร่งด่วนของการใช้งานห้องน้ำสาธารณะที่ไม่จำเป็นต้องใช้เวลานาน

“Octopus Toilet”, Ebisu East Park by Fumihiko Maki



talk9_08.jpg

“ห้องน้ำปลาหมึก” คือชื่อที่คนท้องถื่น ต่างต้องใช้เรียกห้องน้ำแห่งใหม่ในสวนสาธารณะ “Ebisu East Park” สวนสาธารณะยอดนิยมที่ใช้เป็นสนามเด็กเล่นที่เต็มไปด้วยต้นไม้เขียวขจี ถูกออกแบบโดยสถาปนิกชาวญี่ปุ่น ฟูมิฮิโกะ มากิ (Fumihiko Maki) ที่มีความตั้งใจทำให้สถานที่แห่งนี้เป็นมากกว่าห้องน้ำ ที่กลายเป็นศาลาพักผ่อนกลางสวนสาธารณะที่ใครๆ ก็มาพักผ่อนหย่อนใจได้ ห้องน้ำแห่งนี้ผ่านการออกแบบพื้นที่ให้ดูสว่างสะอาดตา และมีรูปลักษณ์เหมือนกับเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น ส่วนเหตุผลที่เรียกว่าห้องน้ำปลาหมึกก็เพราะว่า “Ebisu East Park” เป็นที่รู้จักในหมู่คนท้องถิ่น ในฐานะของสวนสาธารณะปลาหมึกนั่นเอง

“A Walk in the Woods”, Nabeshima Shoto Park by Kengo Kuma



talk9_09.jpg

ที่นี่ เหมือนหมู่บ้านห้องน้ำสาธารณะก็เป็นได้ เนื่องจาก “เคนโกะ คุมะ” (Kengo Kuma) สถาปนิกผู้ออกแบบพื้นที่แห่งนี้ ได้แรงบันดาลใจมาจากกระท่อม ที่มีความเป็นธรรมชาติ ปลอดภัย รักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยออกแบบให้มีลักษณะคล้ายกับกระท่อม 5 หลัง อยู่ภายในสวนนาเบชิมะ โชโตะ อันเขียวขจี นอกจากความสวยงามของบานเกล็ดจากไม้ซีดาร์กว่า 240 ชิ้นแล้ว ภายในก็ยังมีการตกแต่งด้วยไม้อีกเหมือนกัน ส่วนเพดานของห้องน้ำตกแต่งด้วยเฉดสีเขียวที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับประตูด้านหน้า ที่แต่ละบานถูกออกแบบให้มีตาแมวไว้เพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ยังมีหน้าต่างที่ส่องสว่างเพื่อบอกให้รู้ว่าสามารถใช้งานได้ในเวลากลางคืนอีกด้วย เหมือนกระท่อมกลางสวน ให้คุณได้สัมผัสความสุนทรีย์กับธรรมชาติ

Urasando Public Toilet by Marc Newson



talk9_10.webp

Marc Newson นักออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมชาวออสเตรเลีย ได้ออกแบบห้องน้ำสาธารณะ ชื่อว่า “Urasando Public Toilet” ที่โดดเด่นด้วยการดีไซน์หลังคาทองแดงมิโนโกะ ซึ่งอ้างอิงถึงสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม ซึ่งมักพบเห็นได้ตามศาลเจ้า วัด ร้านน้ำชา และพื้นที่ชนบทห่างไกลเมือง ส่วนพื้นที่ด้านในทาด้วยสีเขียวพาสเทลเป็นหลัก เพื่อความสว่าง สบายตา ให้ความรู้สึกสะดวกสบาย เรียบง่าย สามารถมองเห็นทุกอย่างได้อย่างทั่วถึง ส่วนวัสดุที่เลือกใช้มีความทนทาน ทำความสะอาดง่าย ทำให้มีความดึงดูดให้ผู้คนทุกเพศ ทุกวัย หรือผู้พิการสามารถใช้บริการได้อย่างทั่วถึง

อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.collater.al
https://www.art4d.com
https://www.archdaily.com
https://www.tokyotoilet.jp
https://www.asajournal.asa.or.th
https://www.groundcontrol.com
https://www.urbancreature.co

เรื่องราวที่คุณอาจสนใจ
ดูทั้งหมด