
คุณเองก็เป็นหนึ่งในคนที่กำลังก่อร่างสร้างครอบครัวอยู่รึเปล่า?
โดยเฉพาะถ้าสมาชิกใหม่ในครอบครัวของคุณไม่ใช่ลูกสาว ลูกชาย แต่เป็นเจ้าลูกน้อยสี่ขา
อย่างน้องหมาและน้องแมว
เทรนด์การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงแบบที่ยกให้เป็นหนึ่งในสมาชิกคนใหม่ของครอบครัว หรือกระแสที่เรียกว่า Pet Parenting นั้น สัมพันธ์กับการเติบโตขึ้นของเจนวายในปัจจุบันที่นิยมมีลูกลดลง หรือแม้กระทั่งกลุ่มคนโสดที่เลือกอยู่คนเดียว การเลี้ยงสัตว์จึงกลายเป็นตัวเลือกเพื่อทดแทนในการเติมเต็มความเป็นครอบครัวของคนรุ่นใหม่ นั่นทำให้การเลี้ยงสัตว์ของคนในยุคนี้ ไม่ใช่แค่การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงแบบธรรมดาอีกต่อไป ซึ่งการดูแลพวกเค้าเหมือนเป็นคนในครอบครัวนั้น ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่เผลอๆ อาจมากกว่าที่เราจ่ายให้ตัวเองเสียอีก
ในงานศึกษาระดับปริญญาโทของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดลปี 2566 ชี้ให้เห็นว่า เกือบครึ่ง(49%) ของกลุ่มตัวอย่าง เลี้ยงสัตว์เลี้ยงเป็นลูก และมีค่าใช้จ่ายสำหรับสัตว์เลี้ยงสูงถึง 14,900 บาท ต่อปี
โดยตัวเลขในไทยสอดคล้องกับกระแสในระดับโลกเช่นในปี 2024 รายงานว่า 66% ของครัวเรือนเลี้ยงสัตว์ หรือจำนวนบ้านที่เลี้ยงสัตว์มีมากถึง 86.9 ล้านครัวเรือน แปลว่าทุกวันนี้เป็นเรื่องธรรมดามากๆ ที่เราจะยกให้เลี้ยงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ…ถ้ากว่าครึ่งของบ้านเรือนเลี้ยงสัตว์แล้ว เมืองของเราจะปรับตัวและคำนึงถึงเหล่าสัตว์เลี้ยงเหล่านี้ได้ไหม ? เมืองควรจะมีสาธารณูปโภค หรือมีหน้าตาของเมืองแบบไหนถึงจะดีต่อใจผู้เลี้ยง และตอบโจทย์การใช้ชีวิตของสัตว์เลี้ยงของเราได้ดีที่สุด
Pet Friendly City เมืองแห่งสัตว์เลี้ยงที่มอบชีวิตชีวาให้กับเรา
ประเด็นของเมืองและคนเลี้ยงสัตว์นั้นเป็นประเด็นสำคัญ โดยปกติแล้วการออกแบบและวางผังเมืองมักจะคำนึงถึงที่อยู่อาศัยเป็นหลัก แต่ถ้าหากทุกครัวเรือนมีสมาชิกใหม่เป็นสัตว์เลี้ยง การออกแบบเมืองเองก็ควรปรับรูปแบบให้เหมาะกับเหล่าสมาชิกใหม่ที่กำลังวิ่งเล่นใช้ชีวิต และมองสัตว์เลี้ยงให้เป็นส่วนหนึ่งของสมการในการพัฒนาเมือง
ถ้านิยามอย่างง่ายที่สุด เมืองที่ดีกับสัตว์เลี้ยงของเรา อาจเป็นเมืองที่ทำให้พวกเค้าได้มีความสุขกับการได้อยู่ในแสงแดด วิ่งเล่นในสวน เดินเล่นไปบนทางเท้าที่ร่มรื่นและปลอดภัยกับเท้าน้อยๆ ของพวกเค้า ได้พบเจอสัตว์เลี้ยงตัวอื่นๆ และคงต้องเป็นเมืองที่มีรถยนต์น้อย ขับขี่ด้วยความเร็วที่พอเหมาะ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ได้จริง ก็คงเป็นเมืองที่ปลอดภัยทั้งกับคน และกับสัตว์เลี้ยงไปพร้อมๆ กัน เป็นเมืองที่เดินได้ สะอาด ปลอดภัย มีพื้นที่กลางแจ้ง นึกภาพเมืองที่เต็มไปด้วยสัตว์เลี้ยง เมืองที่มีชีวิตชีวาแบบนั้น คงทำให้เราอยากออกไปใช้เวลานอกบ้านมากขึ้น และรู้สึกว่าเมืองน่ารัก น่าอยู่อาศัยมากขึ้น
กระแสเปิดพื้นที่ให้สัตว์เลี้ยงค่อนข้างมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องจากทั่วโลก เช่น ปารีสเองประกาศให้ทุกสวนสามารถนำสุนัขเข้าได้ โดยปารีสนับเป็นอีกเมืองดีต่อสัตว์เลี้ยงเป็นอันดับต้นๆ เป็นเมืองที่ผู้คนพาสัตว์เลี้ยงไปใช้ชีวิตในเมือง มีพื้นที่สาธารณะที่หลากหลาย ซึ่งประเทศไทย หรือบ้านของเราเองก็เริ่มมีสาธารณูปโภคเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น โดยในกรุงเทพฯ เองก็มีสวนสำหรับสุนัขมากขึ้น พื้นที่ห้างหลายๆ แห่งก็เริ่มออกแบบให้เป็นสัตว์ส่วน และต้อนรับให้เหล่าสัตว์เลี้ยงเข้าไปใช้เวลาในห้าง พร้อมกับเหล่าผู้ปกครองของน้องๆ ได้
ขนส่งสาธารณะ และสาธารณูปโภคเพื่อสัตว์เลี้ยง
เมื่อกระแสเรื่อง Pet Parenting และการที่คนเริ่มให้ความสำคัญกับสมาชิกสี่ขาของเมืองมากขึ้น
นำมาสู่แนวคิดเรื่องสาธารณูปโภคสำหรับสัตว์เลี้ยง (Pet-oriented) ซึ่งก็คือการออกแบบขึ้นเพื่อสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ…
สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปในหลายๆ เมืองนั่นคือระบบขนส่งสาธารณะ ในปัจจุบันระบบขนส่งสาธารณะของเมืองใหญ่หลายๆ เมือง เปิดพื้นที่ให้สัตว์เลี้ยงได้ร่วมใช้บริการกันได้มากขึ้น โดยอาจจะมีเงื่อนไขในการดูแลเพิ่มขึ้น เช่นในบางเมือง สัตว์เลี้ยงจะต้องอยู่ในกระเป๋าเท่านั้น
การที่ขนส่งสาธารณะที่เปิดให้สัตว์เลี้ยงใช้บริการได้มีนัยสำคัญอย่างหนึ่ง คือทำให้คนเลี้ยงสัตว์ใช้ชีวิตได้สะดวกขึ้น จากที่เมื่อก่อนการจะเดินทางไปไหนกับสัตว์เลี้ยงนั้น ต้องใช้รถยนต์ส่วนตัวเท่านั้น ซึ่งอาจทำให้หลายๆ คนติดปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่าย
ในแง่ของพื้นที่สาธารณะเช่นสวนสาธารณะ หรือพื้นที่สีเขียวเอง เมืองที่ Pet Friendly จะค่อนข้างมีความละเอียดอ่อนมากกว่าเมืองทั่วไป โดยจะการคำนึงถึงพื้นที่สีเขียวที่หลากหลายเพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่ไม่ใช่แค่ของคน แต่ต่อสัตว์เลี้ยงด้วย พื้นถนนและทางเดินต่างๆ ต้องเหมาะสมกับเท้าน้อยๆ ของน้องๆ การดูแลเรื่องความร้อนและความปลอดภัยด้านอื่นๆ เองก็เช่นกัน นั่นทำให้เมืองนั้นๆ มีความเข้าอกเข้าใจ และเป็นมิตรต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ นอกจากมนุษย์เรามากขึ้น
ด้านสาธารณูปโภคอื่นๆ
เมืองจะเน้นไปที่สิ่งที่สัมพันธ์กับสวัสดิภาพของสัตว์เลี้ยง และการที่กระตุ้นให้ผู้เลี้ยงมีความรับผิดชอบกับเมืองมากขึ้น เช่นการบริการถุง หรือพื้นที่ทิ้งขยะ สำหรับทิ้งสิ่งปฏิกูลที่มาจากน้องๆ รวมถึงการมีพื้นที่ที่ให้บริการน้ำสะอาดแก่สัตว์เลี้ยง และเจ้าของ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า เมืองที่ Pet Freindly นั้นนอกจากจะตอบโจทย์การเลี้ยงสัตว์แล้ว ยังช่วยเพิ่มความรู้สึกในการรับผิดชอบต่อความสะอาด และส่วนรวมของเจ้าของด้วย

ถ้าพูดในมิติที่ละเอียดอ่อนขึ้น เมืองที่ดีต่อสัตว์เลี้ยง ก็คือเมืองที่ ทั้งเมืองและผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมือง ให้ความสำคัญ และมองเห็นถึงความสำคัญในการใช้ชีวิตของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์นั่นเอง นั่นทำให้เมืองเหล่านี้ ไม่ใช่แค่ Pet Friendly แต่ยังเป็นเมืองที่ดีต่อชีวิตสัตว์อื่นๆ ตามธรรมชาติด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://mgronline.com
https://www.forbes.com
https://www.petfriendlyplanning.com
https://globalpetindustry.com
https://www.bettercitiesforpets.com