21 สิงหาคม 2567

เมื่อสถาปนิกออกแบบบ้านให้แม่ จนกลายเป็นงานระดับตำนานของวงการ

Web.jpg

การ ‘สร้างบ้านให้แม่’ น่าจะเป็นความฝันสำคัญของใครหลายคน

แต่ทว่า ถ้าเราพูดในฐานะคนทำอาชีพออกแบบบ้านคือสถาปนิก และบ้านที่เรากำลังจะสร้าง มีแม่ของเราเองเป็นลูกค้า งาน ‘บ้านสำหรับคุณแม่’ น่าจะเป็นอีกหนึ่งโจทย์ยาก ทว่าก็น่าจะเป็นหมุดหมายสำคัญในชีวิตทั้งในฐานะลูกและในฐานะคนทำงานในวิชาชีพนั้นๆ

สำหรับสถาปนิกที่มีชื่อเสียง สถาปนิกสำหรับตำนานหลายท่านก็ได้มีโอกาสออกแบบและสร้างบ้านให้กับแม่ หลายครั้ง บ้านที่สร้างให้แม่นอกจากสถาปนิกจะได้ใช้ความสามารถในการสร้างพื้นที่อยู่ที่ดีและตอบสนองความต้องการ หลายครั้งสถาปนิกที่สร้างบ้านให้แม่มักใช้โอกาสดังกล่าวในการทดสอบสไตล์งานออกแบบเช่นเหล่าสถาปนิกชั้นครูของสถาปัตยกรรมโมเดิร์น ริชาร์ด ไมเออร์ (Richard Meier) เองก็รับงานจ้างส่วนตัวแรกเป็นบ้านของพ่อและแม่ในช่วงวัย 30 ต้นๆ

เพื่อส่งท้ายเดือนแห่งวันแม่ เราขอพาไปเยือนบ้านสามหลังที่สถาปนิกออกแบบให้แม่ จากบ้านที่หันหน้าเข้าสู่ธรรมชาติและเป็นหนึ่งในต้นแบบบ้านของมิดเซนจูรี่ที่สืบทอดสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ไปจนถึงบ้านที่เป็นทั้งบ้านและสตูดิโอของคุณแม่ผู้แอคทีฟในสวิเดน และส่งท้ายด้วยบ้านหลายฟังก์ชั่นตามใจคุณแม่ที่มีโจทย์ตั้งแต่ขนาด ราคา การเป็นบ้านที่นำไปประกอบในพื้นที่ และบ้านที่อยากให้ใช้ทั้งเป็นที่เงียบสงบ จัดงานเลี้ยง ตั้งแคมป์ และรับรองลูกๆ หลานๆ ตัวน้อยๆ

Jerome & Carolyn Meier House, Richard Meier | บ้านชั้นครูของยุคมิดเซนจูรี่

Talk26_B05.jpg


ริชาร์ด ไมเออร์ เป็นสถาปนิกชั้นครูที่สืบทอดทั้งสไตล์และวิธีคิดจากสถาปนิกผู้ริเริ่มกระแสโมเดิร์นนิสต์ การออกแบบพื้นที่ที่เน้นฟังก์ชั่น เน้นการใช้งาน เส้นสายที่เรียบง่าย การใช้รูปทรงเรขาคณิตพื้นฐาน โดยริชาร์ด ไมเออร์ ภายหลังมีชื่อเสียงจากการใช้สีขาว โดยไมเออร์เชื่อว่าสีขาวแสดงคุณภาพของแสงได้ดีที่สุด ตัวริชาร์ด ไมเออร์เรียนจบจากคอร์แนลในปี 1957 เข้าทำงานในสตูดิโอก่อนจะออกมาเปิดสตูดิโอของตัวเองในปี 1963 และแน่นอนว่างานจ้างแรกของเขาคือบ้านของพ่อและแม่คือ Jerome & Carolyn Meier House โปรเจคส่วนตัวแรก และโปรเจคบ้านพักอาศัยแรก ก่อนที่ไมเออร์จะสร้างชื่อจาก Smith House บ้านสีขาวทรงเหลี่ยมที่สร้างชื่อและนิยามสถาปัตยกรรมสมัยใหม่แห่งยุคสมัย

Talk26_A03.jpg


บ้านที่ริชาร์ด ไมเออร์ สร้างให้พ่อแม่ค่อนข้างเป็นการทดลองผสมผสานเทคนิกของสถาปนิกสมัยใหม่ชั้นครูในสไตล์ ไมเออร์ ที่นิยามว่าเป็นผนังอิฐสไตล์มีส ฟาน เดอร์ โรห์ (Mies van der Rohe) สถาปนิกเยอรมันที่อพยพและสร้างผลงานที่อเมริกาใต้หลังคาสไตล์แฟรงก์ รอยด์ ไรท์ (A Miesian brick house under a Frank Lloyd Wright roof)

Talk26_A05.jpg


สำหรับเทคนิกผนัง ถ้าเรามองจากภายนอกจะเห็นจุดเด่นที่เราคุ้นเคยคือการใช้กระจกบานใหญ่ ภายใต้หลังคาแบนๆ ตรงนี้เป็นการใช้สไตล์แบบสมัยใหม่มาปรับใช้กับโจทย์บ้านพักอาศัยซึ่งออกแบบให้พ่อแม่ ตัวบ้านตั้งอยู่ในพื้นที่ธรรมชาติในนิวเจอร์ซี่ ไมเออร์ได้ออกแบบโดยแบ่งพื้นที่ด้านในบ้านที่หันออกสู่สนามและพื้นที่ป่าโล่งๆ เชื่อมต่อด้วยกระจกบานใหญ่ ในขณะที่ฝั่งถนนใช้เป็นกำแพงอิฐในการรักษาความเป็นส่วนตัว

Talk26_A04.jpg


โจทย์สำคัญของพ่อแม่คือความเป็นส่วนตัว พื้นที่รอบๆ บ้านเป็นชุมชน คือมีกลุ่มบ้านพักอาศัยกระจายตัวอยู่แล้ว จุดเด่นที่สุดของตัวบ้านคือการออกแบบโดยใช้กำแพงอิฐทรงกลมประกอบทั้งบริเวณกำแพงบ้านและออกแบบให้อยู่ในบางส่วนของอาคาร ด้วยพื้นที่วงกลมที่ถูกสร้างขึ้นให้ความรู้สึกเป็นส่วนตัว เป็นการแบ่งความรู้สึกทั้งแยกตัวออกจากพื้นที่รอบๆ ในขณะเดียวกันพื้นที่บ้านส่วนที่หันออกหาธรรมชาติก็จะใช้กระจกในการดึงเอาวิวรอบๆ บ้าน รวมถึงแสงสว่างเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน

Talk26_A06.jpg


บ้านพ่อแม่หลังนี้จึงนับเป็นงานออกแบบบ้านพักอาศัยของศตวรรษที่ 20 ที่ทั้งเส้นสายของอาคารใช้รูปทรงเรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยความหมาย เน้นทั้งการมีพื้นที่ส่วนบุคคล และการเชื่อมต่อกับวิวทิวทัศน์ภายนอก หลังคาแบนๆ ที่ใช้เป็นดาดฟ้าและสวน - ผนังทรงโค้งถือเป็นอีกหนึ่งอิทธิพลสำคัญของยุคมิดเซ็นจูรี่ที่กำลังกลับมาในปัจจุบัน

สิ่งที่น่ารักคือ คุณแม่ของไมเออร์บอกว่าทุกอย่างของบ้านไร้ที่ติ ‘ยกเว้นก็แต่มีตู้เก็บของไม่พอ’

House for Mother, Förstberg Ling | บ้านเพื่อคุณแม่ที่กลายเป็นต้นแบบการอยู่อาศัย

Talk26_B02.jpg


House for Mother เป็นหนึ่งในโปรเจคแรกๆ ของสตูดิโอ Förstberg Ling สตูดิโอสถาปัตยกรรมสัญชาติสวีเดน จุดเด่นของสตูดิโอคือการออกแบบแบบสแกนดิเนเวียน เน้นตอบโจทย์พร้อมกับการใช้สุนทรียะที่เน้นความเรียบง่ายและความเป็นธรรมชาติ ตัวโปรเจคบ้านเพื่อคุณแม่เป็นการพัฒนาโจทย์ที่พักอาศัยเพื่อจัดแสดงในนิทรรศการที่พักอาศัย (housing exhibition) ในปี 2017 โดยตัวบ้านเริ่มจากโจทย์การออกแบบบ้านเพื่อคุณแม่ของ Björn Förstberg ชื่อมาเรีย มาเรียถือเป็นคุณแม่ที่ยังแอคทีฟคือเป็นภัณฑารักษ์ห้องสมุดและเป็นศิลปินที่ทำงานเกี่ยวกับการทอผ้า

Talk26_B01.jpg


ลักษณะบ้านคุณแม่มองจากด้านบนจะเป็นเหมือนบ้านนอร์ดิกสองหลังที่อยู่ติดแต่ทว่าเหลื่อมกัน พื้นที่ที่แบ่งเป็นสองส่วนคือการแบ่งโซนอย่างง่ายระหว่างพื้นที่ที่ค่อยๆ เป็นส่วนตัวขึ้น โซนด้านหน้าเป็นส่วนของพื้นที่ครัว ห้องนั่งเล่น และห้องรับประทานอาหาร ส่วนพื้นที่ด้านในเป็นห้องนอนและสตูดิโอขนาดเล็ก

หน้าตาของอาคารเน้นวัสดุและความโปร่งโล่ง ตัวอาคารภายนอกปิดด้วยแผ่นโลหะลอน ตัวแผ่นโลหะนี้จะทำหน้าที่สะท้อนบรรยากาศและภูมิอากาศโดยรอบทำให้สีของผิวอาคารเปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละห้วงเวลาเช่นสีฟ้าสดใสไปจนถึงสีส้มเมื่อยามอาทิตย์อัสดง พื้นที่ด้านในเน้นความตรงไปตรงมาของวัสดุจากพื้นที่คอนกรีทที่แข็งแรงตัดกับการกรุและการใช้วัสดุไม้เช่นเสาและคานที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น

Talk26_B03.jpg


ความน่าสนใจของการออกแบบตัวบ้านให้มีด้านหน้าแคบ และมีลักษณะกว้างขึ้นในพื้นที่ด้านหลัง สถาปนิกระบุว่าอาจสะท้อนกับการก่อสร้างบ้านอาศัยต่อไปในอนาคตที่พื้นที่ดินอาจเป็นที่แคบๆ และด้วยแนวคิดเรื่องความเป็นส่วนตัว พื้นที่ที่จะเปิดต่อย่านและชุมชนมีเพียงเล็กน้อยเท่าที่ออกแบบไว้ก็เพียงพอ

โปรเจคนี้จึงเป็นอีกโปรเจคที่น่าสนใจคือเริ่มจากการออกแบบเพื่อตอบโจทย์ของคุณแม่ แต่ในภาพกว้างก็เป็นพื้นที่ทดลองที่เน้นตอบเงื่อนไขการอยู่อาศัยต่อไปในอนาคต

Garden House, Caspar Schols | พื้นที่เยียวยาจากการสูญเสียพ่อ สู่ต้นแบบบ้านสุดน่ารัก

Talk26_C02.jpg


รับบรีฟจากคุณแม่ กับโปรเจคบ้านในสวนสุดน่ารัก Garden House ที่มีนัยลึกซึ้ง และเจ้าบ้านสำเร็จรูปนี้ได้รับรางวัลระดับโลกและกำลังกลายเป็นต้นแบบบ้านสร้างสำเร็จที่เรียบง่าย ยืดหยุ่นและสวยงาม บ้านสวนเริ่มต้นจากวันหนึ่งหลังจากที่ Caspar Schols เรียนจบปริญญาโท ตรงนี้เองที่เป็นจุดเริ่มของนักออกแบบคือเป็นรอบต่อทั้งจากเรียนจบหรือเริ่มต้นสตูดิโอของตัวเอง ในตอนนั้นแม่ของแคสเปอร์ต้องการกระท่อมสร้างสำเร็จ (prefab cabin) สำหรับไปตั้งในที่ดินในพื้นที่ป่าที่ครอบครัวซื้อไว้ ในพื้นที่ป่าจะเป็นสวนขนาดใหญ่และมีบึงบัว

Talk26_C03.jpg


ความน่าสนใจของการทำงาน แคสเปอร์เล่าในการสัมภาษณ์ว่าตัวเขาเองสูญเสียพ่อไปแต่เด็ก โปรเจคบ้านของแม่สัมพันธ์กับการสูญเสียพ่อไปเมื่อตอนที่เขาอายุได้ 21 ปี ในความเศร้าโศกแคสเปอร์พบว่าการกลับไปสู่ธรรมชาติ การเชื่อมต่อกับป่าช่วยทำให้จิตใจของเขาสงบและรู้สึกดีได้ การที่แม่ที่จริงๆ ก็โศกเศร้ากับการจากไปขอให้มองหากระท่อมน้อยเพื่อไปใช้เวลาในพื้นที่ป่าจึงเชื่อมโยงกับการสูญเสียและตัวเขาเอง การสร้างบ้านในป่าจึงเป็นทางออกและการเยียวยาสำคัญต่อไป

แคสเปอร์จึงได้ลงมือรับโจทย์จากคุณแม่ ซึ่งโจทย์ของคุณแม่ก็ยาวจนแทบไม่รู้จบ เธออยากได้บ้านที่กะทัดรัด งบไม่เกิน 20,000 ยูโร เป็นที่ๆ ทั้งเธอจะใช้พักผ่อน เขียนงาน ใช้จัดปาร์ตี้ เป็นเวทีแสดงสำหรับหลานๆ เป็นที่อยู่ที่นอน พื้นที่ทำสมาธิ วาดรูปและเชื่อมต่อกับธรรมชาติ

Talk26_C04.jpg


ด้วยโจทย์จำนวนมากนั้น แคสเปอร์จึงคิดถึงการออกแบบพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงได้ง่ายเหมือนกับเราเปลี่ยนเสื้อผ้า เปลี่ยนการใช้งานได้ตามใจ ตัวบ้านที่ออกแบบขึ้นจึงเป็นโครงไม้เรียบๆ และออกแบบให้มีโครงบ้านที่แบ่งออกเป็นสี่ชิ้น คือส่วนที่เป็นหลังคาทึบสองชิ้น หลังคากระจกสองชิ้น ชิ้นส่วนทั้งสี่สามารถเลื่อนขยับไปมาได้ตามต้องการ ทำให้บ้านสามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ทั้งการเป็นพื้นที่นอกอาคาร พื้นที่ในอาคารที่กว้างขึ้น พื้นที่โปร่งโล่งด้วยกระจก สลับไปมาได้ทั้งจากการใช้งานและปรับไปตามภูมิอากาศ

Talk26_C01.jpg


หลังจากบ้านสร้างสำเร็จสร้างให้คุณแม่อยู่ได้ในปี 2016 ตัวบ้านจากแรงบันดาลใจก็ได้พัฒนาออกมาเป็นบ้านสร้างสำเร็จที่มีจุดเด่นจากความยืดหยุ่นและการเชื่อมต่อกับธรรมชาติในสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศที่ไม่รู้จบ จากบ้านสุดเรียบง่ายและตอบโจทย์จึงกลายเป็นโปรเจคกระท่อมสำเร็จรูปที่ออกขายชื่อ Cabin ANNA โดยเจ้ากระท่อมที่ขยับกำแพงได้รับรางวัล Best Hotel Building จาก World Architecture Festival 2022 หนึ่งในเวทีสถาปัตยกรรมที่ทรงเกียรติที่สุดรางวัลหนึ่งของโลก หัวใจหนึ่งของกระท่อมคือการอยู่อาศัยที่ปรับไปตามธรรมชาติซึ่งเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไม่แข็งขืนกับธรรมชาติ

Talk26_C05.jpg


อ้างอิงที่มาข้อมูล และรูปภาพ
https://www.homecrux.com
https://www.dezeen.com
https://www.cabin-anna.com
https://thespaces.com

เรื่องราวที่คุณอาจสนใจ
ดูทั้งหมด