6 ตุลาคม 2566

“เกมจบ แต่เมืองยังไปต่อ”

Post_01-06_COVER_WEB.jpg

ช่วงนี้กีฬาเอเชียนเกมส์ที่หางโจวกำลังแข่งขันกันอย่างคึกคัก สำหรับเอเชียนเกมส์ที่จัดในปลายปี 2023 นี้ เป็นการแข่งขันที่ช้ากว่ากำหนดการประมาณหนึ่งปีจากโควิด แน่นอนว่าหางโจว ในฐานะส่วนหนึ่งของประเทศจีน การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ จีนเองย่อมจัดอย่างธรรมดาไม่ได้ ซึ่งหางโจวนั้นก็ได้มีการเตรียมการด้วยการจัดสร้างสนามกีฬาขึ้นใหม่เพื่อรองรับการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 19 นี้อย่างยิ่งใหญ่โดยสร้างใหม่ถึง 8 สนาม เพื่อรองรับการแข่งขันที่กำลังจะเกิดขึ้น​

ประเด็นสำคัญหนึ่งของการจัดงานกีฬา คือการลงทุนสร้างอาคารหรือออกแบบสถาปัตยกรรมต่างๆ ปัญหาของการจัดงานคืออาคารเหล่านี้มักจะถูกใช้แค่ในช่วงการแข่งขัน เมื่อจบการแข่งขันแล้ว พื้นที่ที่ลงทุนไปนั้นก็มักจะเกิดปัญหา ถูกทิ้งร้าง ไม่ได้ใช้งาน และกลายเป็นพื้นที่เสื่อมโทรม​

สำหรับหางโจวเองก็วางกลยุทธ์ ด้วยการออกแบบและลงทุนสร้างสนามกีฬาใหม่ โดยคำนึงถึงการที่อาคารใหญ่แห่งใหม่นั้นจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของเมือง เป็นพื้นที่ที่คิดเผื่อ คือสามารถใช้งานได้ทั้งกีฬา ทั้งกิจกรรมอีเวนต์ต่างๆ และคิดออกแบบให้พื้นที่สนามกีฬานั้น เป็นพื้นที่สาธารณะที่เชื่อมโยงกับผู้คน กระทั่งบางสนามเช่นสนามดอกบัวอันเป็นสนามหลักนั้น ถูกออกแบบให้ร่วมลดปัญหาเมืองร้อนด้วย

Post_01-03.jpg

ก่อนที่จะพูดถึงสนามกีฬาใหม่และการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาระดับโลกของหางโจว การเข้าใจบริบทเมืองหางโจวอาจทำให้เราเข้าใจภาพกว้างที่ทางเมืองใช้โอกาสการเป็นเจ้าภาพสร้างพื้นที่ใหม่ๆ ขึ้นในเมืองหางโจว เบื้องต้นที่สุด

หางโจวถือเป็นเมืองสำคัญของจีน หางโจวเป็นเมืองหลวงของมณฑลเจ้อเจียง เป็นเมืองใหญ่อันดับที่ 4 โดยตัวเมืองหางโจวเป็นที่รู้จักในฐานะศูนย์กลางทางการค้า เป็นเมืองที่ตั้งอยู่สุดปลายของคลองต้ายุ่นเหอ (Grand Canal) คลองขุดที่ถือว่าเป็นคลองขุดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ เป็นคลองที่เชื่อมดินแดนของจีนจากตอนเหนือคือปักกิ่งมายังหางโจว คลองขุดจากศตวรรษที่ 6 นี้ผลักดันให้หางโจวกลายเป็นหนึ่งในเมืองสำคัญของจีน เป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองทางการค้าและเป็นเมืองที่ได้สมญาว่างดงามเหมือนสวรรค์ที่อยู่บนผืนดิน

ตัดภาพมายุคปัจจุบัน พื้นที่เมืองหางโจวถือเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองเรื่อยมา ในยุคหลังหางโจวกลายเป็นเมืองผู้นำทางด้านเศรษฐกิจดิจิตัล หางโจวมีกรอบการพัฒนาหนึ่งเรียกว่า The Hangzhou Future Sci-Tech City หางโจวเป็นเมืองที่ตั้งของกิจการสำคัญเช่นอาลีบาบา มีมหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมคือมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง โดยภาพของเมืองจะเป็นเมืองล้ำยุคที่สนับสนุนธุรกิจใหม่ทั้งสำหรับสตาร์ทอัพและธุรกิจขนาดใหญ่ เป็นเมืองที่สวยงามแต่ทว่าเชื่อมโยงบริบทและพื้นที่ธรรมชาติโดยเฉพาะการพัฒนาที่สัมพันธ์กับพื้นที่ริมน้ำ เป็นที่ๆ ผู้คนและกิจการรุ่นใหม่จะได้ใช้ชีวิต คิดค้นและเติบโตขึ้น

Post_01_07_04532647c2.jpg

สำหรับการพัฒนาเมืองของจีนมีหลายประเด็นที่สะท้อนอยู่ในการลงทุนสร้างสนามกีฬาของเมืองหางโจว สิ่งที่จีนค่อนข้างเน้นคือประเด็นเรื่องความยั่งยืน และอีกประเด็นคือการเปิดพื้นที่ต่างๆ เป็นพื้นที่สาธารณะ เป็นอาคารหรือพื้นที่ขนาดใหญ่ท่ีผู้คนเข้าไปใช้งานได้ เชื่อมต่อและเป็นพื้นที่สันทนาการให้กับผู้คนในชีวิตประจำวัน สำหรับหางโจวอาจมีบริบทพิเศษด้วยความเป็นเมืองที่มีพื้นที่ริมน้ำเยอะ อาคารใหม่ๆ นี้มักตั้งอยู่ใกล้พื้นที่ริมน้ำ ตัวอาคารจึงเป็นทั้งการเสริมภาพของเมืองแห่งอนาคตที่เชื่อมโยงระหว่างตัวอาคารสมัยใหม่กับทิวทัศน์ของเมืองที่เต็มไปด้วยธรรมชาติและสายน้ำ และที่สำคัญคือเป็นการเปิดพื้นที่ธรรมชาติ เชื่อมโยงผู้คนเข้ากับพื้นที่สีเขียวและพื้นที่ริมน้ำของเมือง หนึ่งในสนามกีฬาที่มีบทบาทในเอเชียนเกมส์ในครั้งนี้คือสนามกีฬารูปดอกบัวหรือศูนย์กีฬาโอลิมปิกหางโจวที่ถือเป็นสนามกีฬาหลักของการแข่งขันเอเชียนเกมส์ในครั้งนี้

ตัวศูนย์กีฬาโอลิมปิกหางโจวหรือ Hangzhou Olympic Sports Center เป็นสนามกีฬาที่สร้างขึ้นใหม่ โดยสร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2018 ตัวสนามกีฬามีสนามกีฬาหลักที่จุคนได้ 80,000 คน ตัวสนามกีฬาตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเฉียนถัง ตรงข้ามย่านธุรกิจเฉียนเจียง โดยสนามกีฬารูปดอกบัวนี้ไม่ได้แค่สวยงามอ่อนช้อยเท่านั้น แต่สนามกีฬายังได้รับการออกแบบโดยตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนและวางให้เป็นพื้นที่สาธารณะและพื้นที่กิจกรรมใหม่ของเมืองทั้งในระหว่างและหลังการแข่งชัน

ในภาพรวมศูนย์กีฬาโอลิมปิกหางโจวค่อนข้างมีจุดเด่นในด้านความประหยัดพลังงานและมีการก่อสร้างที่ปล่อยคาร์บอนฟุ้ตปริ้นน้อย สนามกีฬาดอกบัวนี้เมื่อเทียบกับสนามกีฬาแห่งชาติปักกิ่งหรือสนามรังนกที่สร้างขึ้นในปี 2008 สิบปีให้หลัง สนามกีฬาใหม่ในจำนวนความจุใกล้เคียงกัน(สนามปักกิ่งจุได้หนึ่งแสน ในขณะที่สนามดอกบัวที่หางโจวมีสนามหลักจำนวน 80,000 ที่นั่งและสนามเทนนิสจุได้ 10,000 ที่นั่ง) สนามดอกบัวด้วยเทคนิกการออกแบบสนามแห่งใหม่นี้ใช้เหล็กน้อยลงกว่าสนามกีฬาปักกิ่งถึง 67%

นอกจากนี้ตัวสนามดอกบัวยังเน้นการออกแบบเพื่อให้แสงและลมธรรมชาติพัดผ่านทั้งรอบพื้นที่และช่วยระบายอากาศในสนามเพื่อลดปริมาณการใช้พลังงาน

Post_01_08_dc5f0b9ae2.jpg

จุดสำคัญของสนามกีฬาแห่งนี้คือการออกแบบให้เป็นพื้นที่เพื่อการเคลื่อนไหว เป็นพื้นที่สันทนาการ(active public space) อย่างต่อเนื่องทั้งในระหว่างที่มีกิจกรรมหรือการแข่งขันและเป็นพื้นที่สันทนาการในชีวิตประจำวันของผู้คน ในวันที่ไม่มีการแข่งขัน พื้นที่ภายในสนามจะเปิดเป็นพื้นที่การค้าและพื้นที่กิจกรรม ตัวอาคารจะเป็นอาคารที่สวยงามและเชื่อมต่อผู้คนเข้ากับพื้นที่ริมน้ำของเมือง ในวันธรรมดาเราอาจอยากไปเดินเล่นในพื้นที่สนาม ตัวพื้นที่เองก็ได้รับการออกแบบให้เป็นพื้นที่ที่ดีต่อการเดินและในวันสบายๆ ในทุกๆ วันนั้น เราก็จะได้เห็นอาคารทรงดอกบัวสะท้อนอยู่บนผิวน้ำ เป็นพื้นที่หย่อนใจและออกกำลังกายที่เป็นปลายทางของผู้คนในทุกๆ วันด้วย

จุดเด่นอีกอย่างของสนามกีฬาคือตัวสนามกีฬานี้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำคือย่านธุรกิจใหม่ในพื้นที่ทางตอนใต้ชองแม่น้ำเฉียนถัง ด้วยความที่สนามกีฬาเน้นการออกแบบให้ใช้พลังงานน้อย ไม่ต้องพึ่งพาพลังงานเช่นการทำความเย็นให้อาคาร และตัวอาคารสนามกีฬาถูกออกแบบให้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ริมน้ำที่เป็นกลุ่มพื้นที่สีเขียว บทบาทหนึ่งของสนามกีฬาคือการช่วยรักษาอุณหภูมิ ทีมออกแบบระบุว่า หวังใจว่าบทบาทพิเศษของสนามกีฬาดอกบัวแห่งนี้คือจะช่วยลดภาวะเกาะความร้อนของเมืองผ่านการเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่สีเขียวริมน้ำของเมือง เป็นสนามกีฬาที่ทั้งเชื่อมต่อผู้คนเข้ากับกิจกรรมภายในสนาม และเชื่อมโยงกลับเข้าสู่บริบทและวิวแม่น้ำที่สวยงามด้วย

Post_01_04_3b42f138da.jpg

นอกจากสนามกีฬารูปดอกบัวที่สร้างเสร็จก่อนและถูกใช้ไปในหลายกิจกรรมเช่นแขงฟุตบอลหรือคอนเสิร์ตใหญ่ เพื่อเป็นการรับการแข่งขันทางเมืองหางโจวก็ได้ลงมือสร้างสนามกีฬาใหม่ๆ โดยสร้างเสร็จในช่วงปี 2021-2022 อีกหลายแห่ง ลักษณะแนวคิดค่อนข้างคล้ายกันคือเป็นสนามที่สะท้อนตัวตนของวัฒนธรรมจีนในหน้าตาอาคารล้ำสมัย เป็นพื้นที่สาธารณะที่ใช้งานได้หลากหลายโดยเฉพาะในวันที่ไม่มีกิจกรรมหรือการแข่งขัน หนึ่งในอาคารที่น่าสนใจคืออาคารสำหรับการแข่งอีสปอร์ตชื่อ Hangzhou E-sports Center สร้างขึ้นเพื่อรับการแข่งกีฬาอีสปอร์ตในเอเชียนเกมส์ ซึ่งถือเป็นกลุ่มกีฬาและสาธารณูปโภคที่ค่อนข้างใหม่ของเมือง

จากสนามกีฬารูปดอกบัวริมแม่น้ำ คราวนี้เรามากันที่พื้นที่ทางตอนใต้ของภูเขาเกาติ้ง (Gaoting Mountain) โดยพื้นที่ทางตอนใต้ของภูเขามีสวนพฤกษศาสตร์ Beijingyuan Ecological Park อยู่ ทางเมืองหางโจวก็ได้เลือกสร้างสนามกีฬาที่ทั้งล้ำสมัยและโรแมนติกขึ้นในสวนพฤกศาสตร์แห่งนี้

ความโรแมนติกของสนามกีฬาหรือศูนย์กีฬาใหม่นี้ ถ้าเรามองหน้าตาของสนามจากด้านบน ทีมออกแบบระบุว่าอาคารแห่งนี้ได้แรงบันดาลใจจากท้องฟ้าและกลุ่มดาวยามค่ำคืน เส้นสายของอาคารลอกเลียรมาจากจังหวะการโคจรของหมู่ดาวและหน้าตาของจักรวาลที่กำลังเคลื่อนไหว ทว่าจักรวาลนั้นรายล้อมไปด้วยผืนป่าสวยงามและสงบนิ่งของเมืองหางโจว ในขณะที่หน้าตาอาคารโดยรวมนั้นคล้ายกับยานอวกาศของผู้มาเยือนจากต่างดาวที่ลงมาเยี่ยมเยียนโลกของเรา

Post_01_09_cc9099a641.jpg

ความพิเศษของศูนย์กีฬาอีสปอร์ตของหางโจวมีอยู่หลายด้าน อย่างแรกคือศูนย์กีฬาที่ดูจะเป็นพื้นที่ของกีฬาสมัยใหม่คือการแข่งวิดิโอเกมส์ที่ใช้คอนเซปแบบล้ำยุค แต่ทว่ารากฐานหนึ่งของศูนย์กีฬาแห่งนี้คือการผสมผสานกันของพื้นที่แข่งขันหรือสเตเดียม และการเป็นพื้นที่สวนพฤกศาสตร์ เป็นสององค์ประกอบที่ดูห่างไกลกันแต่ทว่าถูกนำมารวมไว้ในพื้นที่เดียวกัน

ด้วยการรักษาความเป็นธรรมชาติและการจัดการพื้นที่ที่คำนึงถึงความเป็นพื้นที่ธรรมชาติและพื้นที่ในชีวิตประจำวัน สนามกีฬาอีสปอร์ตหางโจว พื้นที่ส่วนใหญ่จะถูกสร้างขึ้นในพื้นที่ใต้ดิน พื้นที่ด้านบนหรือพื้นที่ผิวดินส่วนใหญ่จะทำหน้าเหมือนสวน คือเป็นทางเดินและเป็นพื้นที่สวนหลังคา ในขณะที่ใต้ดินนั้นถูกออกแบบให้เป็นพลาซ่าที่สามารถปรับเปลี่ยนฟังก์ชั่นการใช้งานได้จากการเป็นสนามแข่งขันถึงพื้นที่พบปะเชื่อมโยงที่ใช้ในกิจกรรมอื่นๆ

ในแง่ของการออกแบบ ตัวอาคารที่ดูหลุดออกจากพื้นโลก มีหน้าตาเหมือนยานอวกาศ อันที่จริงการออกแบบผิวอาคารส่วนหนึ่งสตูดิโออธิบายว่าผิวอาคารใช้วัสดุอลูมิเนียม เมื่อตัวอาคารอยู่กลางแสงแดด ผิวอาคารก็จะสะท้อนทิวทัศน์คือเหล่าแมกไม้ที่รายล้อมอาคารให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร ด้วยความโค้งมนและการสะท้อนพื้นที่โดยรอบนี้ก็จะทำให้อาคารกลมกลืนกับทิวทัศน์โดยรอบ

จุดเด่นอย่างสุดท้ายของอาคารคือการที่ตัวมันเองผสานเข้ากับภูมิอากาศโดยรอบ คือไม่ได้แค่กลมกลืน แต่การรักษาอุณหภูมิเพื่อผลด้านความยั่งยืนและการประหยัดพลังงาน อาคารหน้าตาล้ำสมัยแห่งนี้ก็สร้างโดยยังคงคำนึงความเป็นอาคารสีเขียวอยู่ ทั้งการมีสวนดาดฟ้า การออกแบบคำนึงถึงร่มงำ และจุดที่ล้ำสมัยที่สุดชองอาคารคือการมีหลังคาอัจฉริยะที่ตัวหลังคาเป็นกระจกที่สามารถปรับความเข้มอ่อนได้(electrochromic glass skylight) การปรับความเข้มอ่อนของกระจกนี้อาคารจะปรับไปตามอุณภูมิภายนอก เป็นการควบคุมทั้งแสงและอุณหภูมิภายในของสนามแข่งขันให้เหมาะสม การปรับเปลี่ยนของอาคารตามภูมิอากาศภายนอกนี้จะช่วยทั้งการประหยัดพลังงานและการสร้างบรรยากาศที่เชื่อมต่อพื้นที่ภายในอาคารเข้ากับบรรยากาศโดยรอบได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

Post_01_05_6b5bc81191.jpg

ในภาพการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ และความยิ่งใหญ่ในการลงทุนพื้นที่เพื่อจัดการแข่งขันของเมืองหางโจว การลงทุนสร้างสนามกีฬาขนาดใหญ่หลายแห่งที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่เมืองหางโจวนี้ อันที่จริงไม่ได้เป็นการวางแผนแค่รับการจัดการแข่งขันกีฬาเท่านั้น แต่ยังเป็นการลงทุนพัฒนาเมืองที่สัมพันธ์กับภาพใหญ่

นอกจากแนวทางการพัฒนาของจีนที่แน่นอนว่าด้านหนึ่งคือการที่จีนลงทุนในการสร้างสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่โดยใช้ทีมออกแบบระดับโลกมาประดับพื้นที่เมืองและผลักดันการพัฒนาเมืองอื่นๆ บนแผ่นดินจีนอันยิ่งใหญ่ แนวทางการพัฒนาของจีนยังค่อนข้างสะท้อนจุดยืนการพัฒนาหลายด้าน เช่นการลงทุนพื้นที่นั้นๆ มักเป็นการเปิดพื้นที่สาธารณะ เป็นพื้นที่ใช้งานที่มีความยืดหยุ่น เน้นเพิ่มปฏิสัมพันธ์และกิจกรรมของผู้คนในพื้นที่เมือง และที่สำคัญคือเน้นความยั่งยืน เป็นอาคารประหยัดพลังงานและเน้นการเชื่อมต่อผู้คนและพื้นที่เมืองเข้ากับพื้นที่ธรรมชาติ

นอกจากการลงทุนเพื่อผลักดันให้เกิดความเคลื่อนไหวผ่านพื้นที่ปฏิสัมพันธ์และพื้นที่สาธารณะเช่นสนามกีฬาที่กลายเป็นพื้นที่พักผ่อนและพื้นที่ออกกำลัง รวมถึงเปิดสำหรับงานกิจกรรมพิเศษเช่นกีฬาหรือคอนเสิร์ตได้แล้ว ตัวอาคารใหม่ที่ดูล้ำสมัยเหล่านี้ด้วยพลังของสตูดิโอออกแบบ จีนในการเปิดเมืองเช่นการเปิดในการจัดกีฬาที่เปิดรับผู้คนจากทั่วโลก อาคารใหม่ล้ำสมัยเหล่านี้ทางจีนเองก็ได้ใส่ตัวตนของความเป็นจีน คือเป็นอาคารที่มีรากเหง้าหรือปรัชญาบางอย่างสอดแทรกอยู่ในรูปโฉมหรือวัสดุที่ดูล้ำสมัย สะท้อนความเป็นจีนใหม่ที่รักษาทั้งตัวตนไว้และวางจุดยืนของจีนเองในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมและอนาคตของโลก

จากสนามกีฬารูปดอกบัวที่อ่อนช้อยและเชื่อมต่อผู้คนและพื้นที่ธรรมชาติบริเวณริมแม่น้ำ อาคารกีฬาอีสปอร์ตที่ตั้งอยู่ในหมู่แมกไม้ที่ตีนเขาอันเก่าแก่ นอกจากนี้ยังมีอาคารใหม่ๆ อื่นๆ ที่ดึงเอาตัวตนของจีนมาใช้ในการออกแบบเช่นศูนย์กีฬาทางน้ำที่หน้าตาเหมือนมังกรที่ถูกแช่แข็ง ศูนย์กีฬาอเนกประสงค์(Hybrid Stadium) ที่หน้าตาเหมือนก้อนหินที่ได้แรงบันดาลใจมาจากก้อนหยกโบราณ สนามกีฬาที่จะใช้แข่งปิงปองอันเป็นกีฬาที่จีนแสนภูมิใจและเมื่อสิ้นสุดการแข่งขัน สนามหยกยักษ์นี้จะกลายเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมทางศิลปะวัฒนธรรมของเมืองต่อไป

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.bayareacouncil.org/
https://www.dezeen.com
https://www.nbbj.com
https://www.archdaily.com

เรื่องราวที่คุณอาจสนใจ
ดูทั้งหมด