นึกภาพว่าเรากำลังเดินอยู่บนถนน ท่ามกลางคนเยอะแยะในวันธรรมดาวันหนึ่ง แล้วอยู่ๆ เราก็เห็นคนแหงนหน้ามองดูอะไรซักอย่าง หรือยกมือถือขึ้นถ่าย ถ้ามีแค่คนเดียวเราก็อาจจะปล่อยผ่าน แต่ถ้ามีสองคน สี่คน หรือสิบห้าคน เราเองก็อาจจะเริ่มหยุด มองตาม หรือคลำมือถือของเราเตรียมถ่ายตามฝูงชนที่กำลังทำสิ่งนั้นๆ อยู่ การที่เราทำตามๆ กันกับฝูงชนหรือคนแปลกหน้าก็เป็นพฤติกรรมอย่างหนึ่งที่เราทำไปโดยธรรมชาติ แล้วเราสงสัยมั้ยว่า ต้องมีฝูงชนหรือคนเท่าไหร่ที่ทำอะไรบางอย่างพร้อมๆ กันแล้ว ถึงจะเริ่มติดต่อมาถึงเรา เราถึงจะทำตาม
ความสงสัยเล็กๆ ตรงนี้เลยเป็นเหมือนทั้งการสังเกตพฤติกรรมธรรมดาของเราในฐานะคนเมือง และเป็นการที่เราเองอาจจะได้ทำความเข้าใจอิทธิพลของฝูงชนคนแปลกหน้าที่มีพฤติกรรม ที่เชื่อมโยงเราเข้าหากันโดยที่เราไม่รู้ตัว คำถามง่ายๆ นี้เป็นงานวิจัยหนึ่งที่ได้รับรางวัล Ig Nobel (อิกโนเบล) สาขาจิตวิทยาประจำปี 2023 รางวัลล้อเลียนที่มักจะประกาศก่อนรางวัลโนเบลเล็กน้อย เป็นงานวิจัยที่บ้าๆ หรือเล็กจิ๋ว แต่พอคิดอีกทีก็เป็นเรื่องที่สำคัญเหมือนกัน
ต้องบอกก่อนว่ารางวัล Ig Nobel (อิกโนเบล) งานวิจัยและงานทดลองต่างๆ ที่ได้รับรางวัลทั้งหมดเป็นงานศึกษาวิจัยจริงๆ มีวิธีวิทยา มีการเผยแพร่ผลงานตามหลักการของการศึกษาวิจัยจริงๆ แต่งานวิจัยเหล่านั้นเมื่อเราฟังจะรู้สึกว่าเป็นงานวิจัยที่อีหยังวะ เป็นสิ่งที่เราทำวิจัยจริงๆ หรือ เป็นสิ่งที่เราเรียกมันว่าความรู้จริงไหม เช่นในปีนี้ งานที่ได้รางวัลเช่นรางวัลจากสาขาธรณีวิทยา ที่อธิบายว่าทำไมนักวิทยาศาสตร์บางคนถึงเลียก้อนหิน นักวิจัยที่ประดิษฐ์ส้วมที่สามารถวิเคราะห์สุขภาพด้วยกล้องที่วิเคราะห์ก้นของเราได้ และเก็บตัวอย่างของเสียของเราไปวิเคราะห์ได้
ด้วยความที่รางวัล Ig Nobel (อิกโนเบล) เป็นรางวัลที่มีสาขาย่อยหลายแขนงและค่อนข้างครอบคลุม สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องเมือง รางวัล Ig Nobel (อิกโนเบล) ในปีนี้ก็มีการวิจัยที่ค่อนข้างเกี่ยวข้องกับเมืองและพฤติกรรมในการใช้ชีวิตในเมือง พื้นที่ที่เราอยู่กับฝูงชนขนาดใหญ่ที่เดินไปเดินมาด้วยกัน ในปีนี้รางวัล Ig Nobel (อิกโนเบล) สาขาจิตวิทยาได้มอบให้กับงานวิจัยที่อธิบายว่า ถ้าเราเดินๆ อยู่แล้วมีคนเงยหน้าขึ้นมองอะไรบางอย่าง เราในฐานะส่วนหนึ่งของฝูงชน ปัจจัยของการเป็นไทยมุงคือจำนวนคนที่ทำสิ่งนั้นๆ ส่งผลกับการที่เราจะทำตามกลุ่มคนแค่ไหน อ่านแค่นี้ก็รู้สึกแล้วว่า เออ ฟังดูอีหยังวะคือเป็นเรื่องยิบๆ ย่อยๆ แต่พอคิดไปคิดมาก็น่าสนใจ
ถ้ามีคนแหงนหน้าดูอะไรซักอย่าง เราจะดูด้วยมั้ย
คำถามข้างต้นเป็นคำถามที่ง่าย แต่ที่จริงเราก็ไม่ค่อยตั้งคำถาม แต่ด้วยพฤติกรรมของเรา เราคงนึกภาพเหตุการณ์ที่เราเจอได้ในชีวิตประจำวันออก เราเดินอยู่ในฝูงชน จนอยู่ๆ อาจจะมีคนมองไปที่ไหนซักแห่ง หรือหันไปสนใจอะไรซักอย่าง ในเรื่องธรรมดานี้เอง อันที่จริงมีประเด็นที่สำคัญที่อธิบายเราในเชิงพฤติกรรมได้ คือเราในฐานะที่ใช้ชีวิตอยู่ในฝูงชน เราเองก็มีแนวโน้มที่จะทำไปตามคนหมู่มากหรือทำตามฝูงชน ทีนี้คำถามสำคัญคือแค่ไหนที่เรียกว่าฝูงชน คือมีกี่คนที่หันไปทำอะไรบางอย่างกี่คนที่จะกระตุ้นให้เราทำตาม คือคิดมาแค่นี้ก็สนุกและทำให้เราได้นึกย้อนไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตในเมืองของเราแล้ว
ตรงนี้เองที่มีความเป็น Ig Nobel (อิกโนเบล) มาก คือเริ่มจากเรื่องเล็กมากๆ ซึ่งตัวงานวิจัยที่ได้รับรางวัล คือการทำการทดลองแบบจริงจังเลย มีระเบียบวิธี ลงมือทดลองกับกลุ่มตัวอย่างแล้วเก็บข้อมูล งานวิจัยที่ได้รางวัลมีชื่อว่า Note on the drawing power of crowds of different size. ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Personality and Social Psychology เมื่อปี 1969 เป็นงานของคณะนักวิจัยถึง 3 ท่านร่วมกันตอบคำถาม ซึ่งนักวิจัยสามคนก็เป็นคนดังเช่น Stanley Milgram เจ้าของการทดลองที่โด่งดังและฉาวโฉ่คือ Milgram Experiment เจ้าของการทดลองที่ให้ผู้ร่วมทดลองได้ลงโทษอีกฝ่ายเพื่อทดสอบจิตใจและแนวคิดเรื่องการทำตามหน้าที่โดยไม่รู้สึกผิด
กลับมาที่งานวิจัยเบาสมอง ตัวงานศึกษาและรายงานดังกล่าวก็ตามชื่อเลย คือเขาอยากรู้ว่าขนาดของฝูงชนสัมพันธ์กับการทำตามกันมากน้อยแค่ไหน ซึ่งนักวิจัยเรียกว่าเป็นภาวะติดต่อ (Contagion คล้ายๆ มีคนหาวก็หาวตาม มองก็มองตาม) เพื่อตอบคำถามคณะนักวิจัยได้สร้างการทดลองขึ้นด้วยการสร้างเงื่อนไขด้วยสร้างกลุ่มกระตุ้น(Stimulus crowds) ขึ้น อธิบายอย่างง่าย ซึ่งจริงๆ การทดลองก็ง่าย คือนักวิจัยจะใช้คนทั่วไปที่เดินอยู่บนถนนของเมืองนิวยอร์กนี่แหละทำการทดลอง โดยจะใช้คนไปอยู่บนตึกสำนักงานหนึ่งที่อยู่ตรงข้ามถนน จากชั้นที่หกของอาคารนั้น นักวิทยาศาสตร์จะเปิดสัญญาณ ในตอนที่เปิดสัญญาณ กลุ่มหน้าม้าที่เดินอยู่บนถนนฝั่งตรงข้ามจะหยุด และเงยหน้ามาที่หน้าต่างอาคารตามที่เตี๊ยมไว้และจ้องมองเป็นระยะเวลา 60 วินาที
การทดลองจะเปลี่ยนจำนวนหน้าม้าไปเรื่อยๆ จากที่หยุดมอง 1 คน ไปสู่ จำนวน 2, 3, 5, 10 และ 15 ตามลำดับ ซึ่งผลการทดลองพบว่ายิ่งคนมากขึ้นทำ ก็มีแนวโน้มที่คนอื่นคือคนที่เดินไปเดินมารอบๆ จะเงยหน้าขึ้นมองตาม งานทดลองรายงานตัวเลขว่า ในการให้หน้าม้ามองขึ้นมา 1 คน มีคนเพียง 4% ที่หยุดตามหน้าม้า แต่ในจำนวนกลุ่มหน้าม้าที่ใหญ่ที่สุดคือ 15 คน ผลคือฝูงชนที่บังเอิญเดินอยู่รอบๆ นั้น มีถึง 40% ที่หยุด ตัวรายงานก็เก็บข้อมูลการทดลองค่อนข้างละเอียด คือบอกทั้งว่ามีเท่าไหร่ที่หยุด เท่าไหร่ที่แค่มองตาม ผลคือสัดส่วนคนที่มองตามแต่ไม่ได้หยุดจะมีเยอะกว่าเสมอ
คิดอีกครั้งถึงเข้าใจมากขึ้น
จากงานวิจัยรางวัล Ig Nobel (อิกโนเบล) ซึ่งเรื่องความสงสัยว่า กลุ่มคนเท่าไหร่ถึงส่งผลต่อพฤติกรรมที่เราจะทำตามๆ ฝูงชนรอบๆ ตัว ทั้งหมดนี้ก็ค่อนข้างตอบเป้าหมายของรางวัลที่ดีมากๆ คืองานวิจัยหรือความรู้หลายครั้งมาจากเรื่องเล็กๆ ความสนใจหรือการลงมือทดลองเพื่อตอบข้อสงสัยเล็กๆ ก็อาจเป็นความเข้าใจที่น่าสนใจและสำคัญได้ อย่างการทดลองเรื่องจะมองตามมั้ย พอเราดูวิธีการทดลองและผลการทดลองแล้วก็จะรู้สึกว่าเออ เท่เนอะ ทดลองก็ไม่ยากมาก แต่ทำจริงจังแล้วในที่สุดเราอาจเข้าใจพฤติกรรมความเป็นสิ่งมีชีวิตในเมืองที่เราไหลไปท่ามกลางคนแปลกหน้าและนัยหนึ่งคือเราได้รับอิทธิพลจากคนแปลกหน้าที่เราไม่รู้จักอยู่เสมอ
จริงๆ ถ้าเราดูงานวิจัยอื่นๆ ที่ได้รางวัลก็คล้ายๆ กัน ฟังดูงี่เง่า เล็กน้อย หรืออี๋ๆ แต่สุดท้ายความรู้ก็อาจจะไม่มีการแบ่งแยก ความรู้แบบไหนก็ล้วนสำคัญ ยิ่งความรู้ที่ทำให้เรายิ้มได้ สนุกกับการมองเห็นเข้าใจโลกมากขึ้นเล็กน้อย แค่นั้นก็สนุกแล้ว
เช่นการถามว่าทำไมนักวิทยาศาสตร์เลียหิน ผลคือเขาพบว่าการชิมรสหินสัมพันธ์กับนักวิจัยสองแขนงคือนักธรณีวิทยาที่ศึกษาดิน หินและนักบรรพชีวินที่อาจจะศึกษาไปถึงอินทรีย์สาร ซากกระดูก ฟอซซิลต่างๆ เขาบอกว่าการรับรสหินได้นำไปสู่การแยกแยะสิ่งที่พบได้เบื้องต้น ถึงขนาดบอกว่าอยากจะแชร์และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้นี้จากสองแขนงที่ศึกษาเรื่องหินกันเลย หรือชักโครกอัจฉริยะก็ตอบปัญหาการเก็บตัวอย่างของเรา บางส่วนสามารถวิเคราะห์และระบุโรคได้ก่อนซึ่งการตรวจในบางส่วนเป็นพื้นที่น่าอาย เก็บตัวอย่างยาก
อ้างอิงข้อมูลจาก
- https://psycnet.apa.org
- https://www.researchgate.net
- https://improbable.com/ig/winners/#ig2023
- https://www.youtube.com/watch?v=P9UQi0ORXv4