แชร์เลย

ในอดีตเราคุ้นเคยกับเมืองเซินเจิ้นในฐานะเมืองแห่งของก๊อป แต่ปัจจุบันเมืองทางใต้ของจีนแห่งนี้ได้ขยายตัวขึ้นจากการเป็นเมืองเล็ก ๆ สู่การเป็นเมกาซิตี้ มหานครอันดับ 4 แห่งใหม่ของจีน และยังเป็นแหล่งเศรษฐกิจสำคัญที่เติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ จากการต่อสู่อย่างดุเดือดกับเกาะฮ่องกงที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ จนเมืองเซินเจิ้นถูกยกระดับให้เป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่พาเซินเจิ้นไปสู่แหล่งอุตสาหกรรมยุคใหม่ แหล่งธุรกิจ และฐานที่มั่นของสำนักงานใหญ่ทางเศรษฐกิจของจีน กลายเป็นโปรเจกต์ยักษ์ใหญ่ที่ต้องใช้ยุทธศาสตร์สำคัญของการออกแบบและวางผังเมืองเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด
ในการวางแผน มาสเตอร์แปลน อ่าวเซินเจิ้น ซุบเปอร์ซิตี้ ทางการได้จัดการประกวดแข่งขันการออกแบบวางผังระดับนานาชาติ (Shenzhen Bay Super City Masterplan International Competition) เพื่อเฟ้นหาแนวคิดใหม่ ๆ ของการสร้างเมืองใหม่ที่สามารถตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการของปัจจุบัน รวมถึงสร้างทางเลือกการออกแบบใหม่ที่ให้นักออกแบบ สถาปนิกระดับโลกได้รู้จักเมืองเซินเจิ้น ซึ่งการประกวดแบบนี้เป็นแนวทางที่เมืองใช้สำหรับการออกแบบเมืองอยู่อย่างต่อเนื่อง
โปรเจกต์อ่าวเซินเจิ้น ซุบเปอร์ซิตี้นี้ เน้นการประกวดแบบพื้นที่ศูนย์กลางเมืองที่เรียกว่า ซุบเปอร์ เฮดควอเตอร์ โดยนิยามว่า พื้นที่ตรงนี้จะเป็นศูนย์กลางของเมืองแห่งเมฆ (Cloud city) และเป็นเมืองสามมิติ (Three-dimensional City) บนพื้นที่กว่า 352,000 ตารางเมตร ราว 220 ไร่ และระบุพื้นที่ใช้สอยในอาคาร 1.5-1.7 ล้านตารางเมตร มากกว่าขนาดพื้นที่เกือบ 5 เท่า
เมืองแห่งเมฆ นี้นับว่าเป็นจินตนาการที่หน่วยงานวางผังเมืองของเมืองเซินเจิ้นสร้างความท้าทายให้กับการออกแบบศูนย์กลางเศรษฐกิจใหม่ โดยตั้งใจให้แสดงถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการก่อสร้าง แต่ที่นอกเหนือจากนั้นยังได้คำนึงถึงระบบนิเวศของพื้นที่และการใช้พลังงานที่แฝงมากับการกำหนดเงื่อนไขของการออกแบบด้วย โดยองค์ประกอบหลัก ๆ จะมี 2 ส่วน คือ ต้องมีทาวเวอร์ที่จะเป็นแลนด์มาร์กทางกายภาพและทางเศรษฐกิจของเมืองทั้ง 3 อาคาร รวมถึงต้องมีพื้นที่อีกสองส่วนคือ พื้นที่สำหรับวัฒนธรรมและพื้นที่สวนสาธารณะกลางเมือง หรือ เซ็นทรัลปาร์กอยู่ด้วย
ความเป็นไปได้ของเมืองเซินเจิ้นผ่านจิตนาการอันหลากหลายของนักออกแบบทั่วโลก
แนวทางของการสร้างเมืองใหม่ของจีนด้วยการประกวดแบบนี้ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากสถาปนิกทั้งในและต่างประเทศที่มาร่วมแสดงฝีมือการออกแบบให้เป็นที่ประจักษ์ และสร้างความตื่นเต้นให้กับนานาชาติไปพร้อมๆ กัน ซึ่งด้วยการกำหนดองค์ประกอบของเงื่อนไขการประกวดแบบนั้น ทำให้เราได้เห็นจินตนาการของเมืองแห่งเมฆที่ดูล้ำสมัยและลักษณะแตกต่างกัน ตั้งแต่รูปร่าง หน้าตาไปจนถึงฟังก์ชั่นการใช้งาน

การมีอาคารสูงทาวเวอร์ 3 อาคาร ยกระดับการเชื่อมต่อการใช้งานให้สูงขึ้นจากระดับพื้นดิน และเชื่อมต่อการเดินทางจากบริการสาธารณะในชั้นใต้ดิน เป็นแนวคิดหลัก ๆ ที่หลากหลายทีมได้นำเสนอการออกแบบ ยกตัวอย่างเช่น UA Studio 7 สามทาวเวอร์เชื่อมต่อการใช้งานบนท้องฟ้า ผสานไปกับการออกแบบผังที่ออกแบบทางเดินยกระดับเป็นพื้นที่ใช้งานเชิงศิลปะวัฒนธรรม และเชื่อมต่อการเดินทางในชั้นใต้ดิน ในแนวคิดของ 3 รวมกันเป็น 1 หรือ 1 ได้ถึง 3 (1>3)

อีกสตูดิโอหนึ่ง Urban Future Organization (UFO) และ CR-design ได้เสนอความเป็นเมืองแห่งเมฆได้อย่างชัดเจน ผ่านการสร้างกลุ่มก้อนของพื้นที่การใช้งานไว้บนท้องฟ้า เป็นกลุ่มอาคารขนาดใหญ่ที่ยกลอยสูงเสียดฟ้า ดั่งก้อนเมฆ ซึ่งมีแนวคิด Cloud Citizen พลเมืองแห่งเมฆ นั่นเอง และเมื่อมองจากด้านบนก็จะเห็นการผสานไปกับชั้นอื่น ๆ และเห็นพื้นที่สีเขียวในทุก ๆ มิติ ซึ่งทำให้ UFO ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ชนะในการออกแบบวางผังในครั้งนั้น
นอกจากนี้ UFO ยังได้ผสานเรื่องระบบนิเวศเมืองไว้ในการออกแบบวางผังอาคารด้วย ทั้งการกักเก็บน้ำฝน การสร้างพลังงานจากแสงอาทิตย์ ลม และสาหร่าย การกักเก็บคาร์บอนและกรองอากาศ การให้สร้างพื้นที่พืชพรรณไม้ป่า การผลิตอาหาร ที่เป็นการใช้งานบริเวณส่วนสวนลอยฟ้าที่ช่วยเมืองท้องฟ้าเชื่อมต่อธรรมชาติจากระดับพื้นดินขึ้นได้ได้อย่างต่อเนื่อง

อาคารทาวเวอร์ 3 อาคาร และการเชื่อมต่อที่ไม่อยู่ในระดับพื้นดินนี้เอง ที่เมืองได้กำหนดไว้ตั้งแต่การเริ่มต้นการประกวดแบบนั้น เป็นวัตถุประสงค์ของการสร้างการเชื่อมต่อของเซ็นทรัลปาร์ก สวนสาธารณะกลางเมืองแห่งใหม่ที่จะเป็นศูนย์รวมของพื้นที่สีเขียว สร้างระบบนิเวศในระดับพื้นดินให้มากที่สุดและเป็นหนึ่งเดียวกับพื้นที่สีเขียว

ทิศทางของการกำหนดการออกแบบให้เป็นเมืองท้องฟ้า ได้สร้างมิติของการพัฒนาเมืองใหม่ที่อยากจะคงพื้นที่ระดับดินไว้ให้เกิดพื้นที่สีเขียวที่ยั่งยืนกว่าการสร้างบนอาคาร แต่ในอีกนัยหนึ่งคือการสร้างการเชื่อมต่อของการใช้งานแบบไร้รอยต่อจากระดับใต้ดินถึงท้องฟ้า ไม่ถูกตัดขาดจากถนน ลำคลอง หรือขนส่งสาธารณะอื่น ๆ ทั้งยังให้ความสำคัญกับองค์ประกอบสำคัญของเมือง เช่น ศูนย์วัฒนธรรม พื้นที่การจัดแสดงนิทรรศการศิลปะ เวทีการแสดง หอศิลปวัฒนธรรม สวนสาธารณะ ไปจนถึงการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกที่จะทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คนในเมืองด้วย
อาคารทาวน์เวอร์ เฮดควอเตอร์ใหม่ที่ผสานแนวคิดของซุบเปอร์ซิตี้เดิม
หลังจากการประกวดแบบเมื่อปี 2014 ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการก่อสร้างอาคารทาวเวอร์ สำนักงานใหญ่ทางเศรษฐกิจของจีน โดย Zaha Hadid Architects ได้กำหนดการใช้งานเป็นอาคารสำนักงานและโรงแรม ในรูปทรงแปลกตาอันเป็นเอกลักษณ์ของ ZHA และคงแนวคิดของ “การไม่มีเสาและการเปิดช่องแสงเพื่อรับแสงธรรมชาติ” ไว้ได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งเป็นการประกวดแบบที่ไม่ได้เปิดเผยสู่สาธารณะมาก่อน ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนผังแม่บทเดิมจากการประกวดแบบไปไม่มากก็น้อย

อย่างไรก็ตาม อาคารทาวน์เวอร์ ซุบเปอร์ เฮดควอเตอร์ เบส (Super Headquarter Base) ที่ ZHA ก็ยังคงแนวคิดของการสร้างพื้นที่สาธารณะ พื้นที่สีเขียวในระดับพื้นดิน ด้วยการเปิดพื้นที่สาธารณะเชื่อมต่อการใช้งานจากพื้นที่โดยรอบเชื่อมต่อกับสวนสาธารณะกลางเมืองได้

ซุบเปอร์ ซิตี้ ของเซินเจิ้น จึงไม่เพียงแต่เป็นฐานหลักของสำนักงานใหญ่ในความหมายของฐานทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการเป็นฐานหลักของศิลปวัฒนธรรมและระบบนิเวศรวมอยู่ด้วย แนวคิดเมืองสามมิติของเซินเจิ้นจึงประกอบไปด้วยเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และระบบนิเวศ ที่รัฐต้องการจะพาเมืองใหม่นี้ไปสู่เมืองระดับเวิลด์คลาสเทียบเคียงกับ La defense ของเมืองปารีส และ Canary Wharf ของเมืองลอนดอน ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.archdaily.com
https://archello.com
https://www.designboom.com
https://www.bdcnetwork.com
https://urbanfuture.org
https://www.dezeen.com