หากพูดถึงศิลปะแนวป๊อปอาร์ต แน่นอนว่าเราจะคิดถึงแอนดี วอร์ฮอล ผู้เป็นเจ้าพ่อแห่งวงการป็อปอาร์ต แต่ถ้าพูดถึงป๊อปอาร์ตในงานแลนด์สเคปหรือการออกแบบภูมิทัศน์ คุณจะคิดถึงใคร เชื่อว่าชื่อของมาร์ทา ชวาร์ตซ์ (Martha Schwartz) จะเป็นหนึ่งในชื่อที่ผู้คนในแวดวงออกแบบคิดถึง หรือต่อให้ไม่ใช่คนในวงการออกแบบ ในฐานะคนทั่วไปก็น่าจะเคยเห็นผลงานอันเป็นเอกลักษณ์ของเธอผ่านตามาบ้าง
ไม่ว่าจะเป็นลานสาธารณะ Grand Canal Square Plaza ที่มีเสาสีแดงเด่นระหง่านสะดุดตาทอดยาวสู่ท่าเรือแกรนด์คาแนล เมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ หรือจะสวนดาดฟ้าของ Whitehead Institute ที่ Schwartz ตีความการออกแบบสวนเหมือนว่ากำลังสร้างงานศิลปะสัตว์ประหลาด งานชิ้นนี้ของมาร์ทาจึงจัดให้ด้านหนึ่งของสวนเป็นสวนสไตล์เรอเนซองส์ของฝรั่งเศส และอีกด้านหนึ่งเป็นสวนเซนแบบญี่ปุ่น
ความเป็นหนึ่งเดียวกันของงานออกแบบของชวาร์ตซ์ ทั้งการออกแบบโปรเจกต์ Grand Canal Square Plaza, Whitehead Institute, Minneapolis Courthouse, Paul-Lincke-Höfe, Jacob Javitz Plaza, Plaza Rio Shopping Center และโปรเจกต์อื่นๆ นั้นค่อนข้างมีสไตล์ที่ชัดเจน เมื่อได้เห็นงานออกแบบภูมิทัศน์ของเธอจะคล้ายว่าเรากำลังชมงานศิลปะ นั่นก็เพราะชวาร์ตซ์เป็นนักศึกษาวิจิตร์ศิลป์ที่สนใจการออกแบบภูมิทัศน์ ในทุกๆ งานออกแบบเธอจึงมักนำสิ่งแวดล้อมและสุนทรียศาสตร์เข้ามาผสานรวมกันอย่างสมดุล


นักศึกษาวิจิตศิลป์ที่อยากสร้างงานศิลปะชิ้นใหญ่
มาร์ทาร ชวาร์ตซ์ เกิดในฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลวาเนีย ภูมิหลังของเธอคือการเติบโตมาในครอบครัวนักออกแบบ พ่อของเธอเป็นสถาปนิกและเธอเองก็โตมาในพื้นที่ห้องทำงานของพ่อในฟิลาเดลเฟีย จึงทำให้ชีวิตวัยเด็กของชวาร์ตซ์ได้คลุกคลีอยู่กับศิลปะและงานดีไซน์ จนเมื่อเข้าสู่ช่วงมหา’ลัยที่ต้องปูเส้นทางอาชีพและชีวิต เธอก็ยังคงให้ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งกับเธออีกครั้ง และได้เลือกเรียนในคณะวิจิตรศิลป์ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน
ชวาร์ตซ์เคยให้สัมภาษณ์ว่าเธอไม่ได้ตั้งใจจะเป็นภูมิสถาปนิกตั้งแต่แรก เธอเพียงแค่อยากสร้างงานศิลปะชิ้นใหญ่ และใช่ งานของเธอจะเป็นชิ้นใหญ่ได้ก็ต้องสร้างมันบนพื้นดิน แต่ด้วยยุคนั้นยังไม่มีวิชาภูมิศิลป์ (land art) ให้ได้เรียน และวิชาออกแบบภูมิทัศน์หรือ landscape architecture เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดที่จะพาเธอให้ทำตามฝันได้
ช่วงปีสุดท้ายของการเรียนป.โท ที่ Graduate School of Design มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ชวาร์ตซ์จึงได้ลองสมัครเรียนวิชาออกแบบภูมิทัศน์เพื่อเรียนรู้วิธีสร้างงานศิลปะบนผืนดิน และนั่นเองจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เธอได้สร้างสรรค์งานศิลปะชิ้นยักษ์ และนำพาเธอไปยังเส้นทางอาชีพนักออกแบบภูมิทัศน์ในเวลาต่อมา
งานวาดบนผืนผ้าสู่งานศิลปะบนพื้นดิน
ชวาร์ตซ์เริ่มต้นอาชีพภูมิสถาปนิกในปี 1979 โดยโปรเจ็กต์แรกของเธอคือ The Bagel Garden ที่หากมองดูด้วยสายตาอาจไม่ได้พิเศษอะไรมากนัก เพราะมันคือการออกแบบสวนเล็กๆ ของทาวน์เฮาส์ในบอสตันที่เธอและสามีอาศัยอยู่ โดยเธอได้ออกแบบลานหน้าบ้านขนาด 22 ตารางฟุตให้ตรงกลางเป็นพุ่มไม้รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส และพื้นที่ว่างตรงกลางด้านในสี่เหลี่ยมก็ปลูกด้วยไม้ดอกอย่าง Ageratum สีม่วงสด ส่วนด้านข้างรอบนอกก็ตกแต่งด้วยกรวดสีม่วงและจัดวางเบเกิลลงในระยะสมมาตรอย่างเป็นระเบียบ
หากนึกภาพตาม สวนของชวาร์ตซ์แทบไม่มีความพิเศษเพราะเป็นเพียงสวนเล็กๆ ทว่าสวนเบเกิลของเธอกลับเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การจดจำ เนื่องจากสวนแห่งนี้ได้ช่วยให้เกิดแนวคิดการจัดสวนแบบ Conceptual Gardens ขึ้น ซึ่งเป็นแนวคิดที่ขาดไปในงานออกแบบภูมิทัศน์ยุคนั้น ยิ่งเมื่องานชิ้นนี้ของชวาร์ตซ์มีรากฐานวิธีคิดแบบเดียวกับการทำงานทัศนศิลป์ จึงยิ่งทำให้ The Bagel Garden พิเศษขึ้นมาไม่น้อย
จากการดีไซน์สวนจิ๋วหน้าบ้านพักนี่เอง ก็ยิ่งทำให้เธอเชื่อว่าภูมิทัศน์ที่สร้างขึ้นไม่จำเป็นต้องมีลักษณะเหมือนหรือเลียนแบบธรรมชาติเสมอไป ไอเดียหรือแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์พื้นที่ให้สวยงามสามารถเป็นอะไรก็ได้ หรืออย่างในกรณีสวนก็ไม่จำเป็นต้องเป็นสวนที่โอบล้อมด้วยธรรมชาติเพียงอย่างเดียว หลังจากนั้นเป็นต้นมา มาร์ทา ชวาร์ตซ์ จึงเนรมิตรงานออกแบบของเธอในคอนเซตป์เดียวกันทั้งหมด นั่นคือการออกแบบภูมิทัศน์ผ่านศิลปะแนวป๊อป
โปรเจกต์ที่สะท้อนเอกลักษณ์งานดีไซน์ของชวาร์ตซ์ได้ชัดเจนมีอีกหลายชิ้นงานด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ Minneapolis Courthouse จัตุรัสหน้าอาคาร Federal Courthouse โดยตัวโปรเจกต์จัตุรัสหน้าอาคารแห่งนี้ ชวาร์ตซ์ได้แรงบันดาลใจจากรูปทรงของธารน้ำแข็ง จึงใช้รูปแบบของเนินดินทรงรี (drumlins) และม้านั่งไม้มาเป็นองค์ประกอบในออกแบบ โดยเธอได้จัดวางวัตถุทั้งหมดให้เรียงตัวกันอย่างสมมาตร เมื่อมองจากมุมบนก็จะคล้ายกำลังชมงานศิลปะ นอกจากนั้นแล้ว โครงการออกแบบนี้ของชวาร์ตซ์ยังได้รับรางวัล National ASLA Merit Award ในปี 1999 อีกด้วย

จากงานศิลปะสู่การออกแบบภูมิทัศน์เพื่อโลกยั่งยืน
บทบาทอีกด้านของชวาร์ตซ์ ยังคือการเป็นศาสตราจารย์ด้านภูมิสถาปัตยกรรมที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และสอนหลักสูตรเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและวิศวกรรมภูมิศาสตร์ นอกจากนั้นเธอยังเป็นผู้ปลุกกระแสปัญหาสภาพภูมิอากาศ และได้พยายามพางานศิลปะที่เธอหลงใหลไปอยู่ในงานออกแบบภูมิทัศน์เพื่อโลกยั่งยืน
แม้งานของชวาร์ตซ์ในช่วงแรกจะมาจากความตั้งใจที่แค่อยากทำงานศิลปะชิ้นใหญ่ แต่ปัจจุบันงานของชวาร์ตซ์ รวมถึง Martha Schwartz Partners (MSP) บริษัท landscape architecture ที่เธอก่อตั้งขึ้นในปี 1980 กลับทำงานออกแบบที่คิดถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อม ภูมิทัศน์ระยะหลังของเธอจึงไม่ใช่แค่งานออกแบบที่เน้นความสวยงาม โดยในเว็บไซต์บริษัทได้ระบุว่า พวกเขามุ่งมั่นและตั้งใจอย่างมากที่จะปกป้องโลกใบนี้ ด้วยเชื่อว่าปัญหาสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไข
จุดเปลี่ยนที่ทำให้ชวาร์ตซ์มองเห็นประเด็นสภาพภูมิอากาศ จนอยากให้งานออกแบบของเธอเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหานั้นเกิดขึ้นเมื่อเธอดูวิดีโอยูทูบซึ่ง Peter Wadhams นักวิทยาศาสตร์ด้านน้ำแข็งในทะเลแห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ อธิบายว่าชั้นดินเยือกแข็งถาวรของเทือกเขาอาร์กติกไซบีเรียตะวันออกกำลังละลายในอัตราที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จากนั้นเธอจึงขยับบทบาทจากนักออกแบบสู่นักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อม และได้ก่อตั้ง MAYDAY.Earth องค์กรที่มุ่งเน้นการให้ความรู้แก่ผู้คนทั่วไปเกี่ยวกับวิศวกรรมทางภูมิศาสตร์ (geoengineering) เพื่อแก้ปัญหาระดับโลก

ชวาร์ตซ์จึงนับเป็นหนึ่งในภูมิสถาปนิกหญิงที่ที่โด่งดังที่สุดในโลก นอกจากโดดเด่นในการสร้างสุนทรียด้านศิลปะผ่านงานออกแบบภูมิทัศน์ ในช่วงปลายของอาชีพ ก่อนเข้าสู่วัยเกษียณ เธอยังกระตือรือร้นให้วิชาชีพของเธอเข้ามาทำหน้าที่ดูแลสิ่งแวดล้อม จากนักศึกษาวิจิตรศิลป์ที่แค่อยากสร้างผลงานศิลปะบนพื้นดิน ได้กลายมาเป็นสถาปนิกหญิงที่ฝากผลงานมากมายไว้ให้โลก ทั้งยังพยายามเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นกว่าเดิม
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.greatgardensoftheworld.com
https://msp.world/projects
https://www.re-thinkingthefuture.com
https://www.spabusiness.com
https://chatterbox.typepad.com
https://landscapearchitecturemagazine.org
https://www.archslate.com