8 มีนาคม 2567

มายา ลิน (Maya Lin)

Post_07_web.jpg

ที่กรุงวอชิงตัน อาคารรัฐสภา มีกลุ่มอาคารที่เชื่อมต่อเข้าหาด้วยสวนหรือสนามขนาดยักษ์เรียกว่า National Mall สนามสีเขียวขนาดยักษ์เป็นพื้นที่แห่งประวัติศาสตร์อันยาวนานของอเมริกา ในพื้นที่จะมีสิ่งปลูกสร้างต่างๆ โดยเฉพาะอนุสรณ์สถานในการรำลึกถึงเหตุการณ์และบุคคลสำคัญของชาติ หนึ่งในนั้นอนุสรณ์สถานทหารผ่านศึกสงครามเวียดนาม (Vietnam Veterans Memorial)

นึกภาพลานสีเขียวอันเป็นหัวใจของประเทศ ที่ลานอันกว้างใหญ่ อนุสรณ์แห่งการรำลึกจากผลของสงครามมีหน้าตาเป็นกำแพงหินแกรนิตสีดำขลับขนาดมหึมา ตัวกำแพงแผ่นสูง 75 เมตร จำนวน 72 แผ่นถูกตั้งเรียงรายอย่างเงียบงัน แต่ละแผ่นสลักชื่อทหารและผู้คนที่เสียชีวิตหรือสูญหายไประหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในสงครามเวียดนาม

รายนามผู้จากไปราว 58,000 ชื่อ ทอดตัวลงสู่หลุมที่ผืนดินสีเขียวขจีถูกตัดลงเป็นบาดแผลสี่เหลี่ยว การก้าวลงสู่แนวหินและผืนดินที่ถูกตัดลงอย่างแปลกประหลาดเป็นเมืองเชื้อเชิญเราเดินทางเข้าสู่แผลและผลของสงครามอย่างเป็นรูปธรรม

อนุสรณ์สถานทหารผ่านศึกษาจากสงครามเป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมที่ทรงพลังของพื้นที่การรำลึกและการใช้การออกแบบภูมิทัศน์ในประเด็นอันซับซ้อนของผลกระทบและการจดจำสงคราม ทว่า ผลงานที่เป็นเหมือนศิลปะนี้เป็นผลงานการออกแบบมายา ลิน หญิงสาวที่ในขณะนั้นศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 2 ที่มหาวิทยาลัยเยล และผลงานอนุสรณ์แห่งนี้ได้กลายเป็นงานออกแบบที่เปลี่ยนนิยามของพื้นที่อนุสาวรีย์และการจดจำ เปิดไปสู่การนิยามใหม่ของการออกแบบภูมิทัศน์ที่ตัวงานออกแบบมีความเป็นศิลปะ มีความซับซ้อนไปจนถึงการใช้พื้นที่และความเป็นธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์และความหมายใหม่ๆ

Talk11_07.jpg

Vietnam Veterans Memorial


เด็กหญิงกับงานศิลปะ ลูกหลานอเมริกันเชื้อสายจีน


Talk11_02.jpg

มายา ลิน เกิดในครอบครัวอเมริกันเชื้อสายจีน เธอเติบโตขึ้นที่โอไอโอ ภูมิหลังของลินอันที่จริงก็ไม่ธรรมดา พ่อแม่ของเธอเป็นชาวจีนอพยพที่นับได้ว่าเป็นเชื้อสายปัญญาชนที่ลี้ภัยก่อนเกิดการการปฏิวัติวัฒนธรรม อาขีพของพ่อและแม่ของลินเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย พ่อเป็นศิลปินเครื่องปั้นดินเผาและเป็นอธิการบดีวิทยาลัยวิจิตรศิลป์โอไฮโอ (Ohio University College of Fine Arts) ส่วนแม่เป็นอดีตอาจารย์ด้วยวรรณคดีและเป็นกวี

ชีวิตวัยเด็กของลินดูเป็นเด็กเอเชียที่ไม่มีอะไรพิเศษ เธอให้สัมภาษณ์ว่าเธอไม่ได้มีเพื่อนเยอะ ชอบอยู่บ้าน ชอบเรียนหนังสือ ชอบโรงเรียน แต่เธอเองใช้เวลาส่วนใหญ่คลุกคลีกับงานศิลปะและการทำงานศิลปะตั้งแต่การขลุกอยู่ในสตูดิโอของพ่อและเล่นดินเหนียวและเครื่องปั้นดินเผา หรือตอนที่เรียนอยู่มัธยมปลายก็ได้ลงเรียนวิชาพิเศษด้านการทำรูปปั้นสัมฤทธิ์ของมหาวิทยาลัยโอไฮโอ

ด้วยบริบทการเติบโตในโอไอโอและครอบครัวศิลปิน ลินเองมักใช้เวลาอยู่ในพื้นที่ธรรมชาติ เดินเล่นในป่า ไปจนถึงใกล้ๆ บ้านเธอมีเนินที่เป็นพื้นที่ฝังศพของชนพื้นเมือง(Native American burial mound) ด้วยบริบทวัยเด็กนี้เองทั้งความเป็นธรรมชาติและรูปแบบของพื้นที่อนุสรณ์ที่เรียบง่ายจึงค่อนข้างสะท้อนอยู่ในงานสถาปัตยกรรมในเวลาต่อมาของเธอ

Talk11_05.jpg

Maya Lin’s Wave Field


การประกวดแบบในวัย 21
และสถาปนิกหญิงผู้เปลี่ยนโฉมความทรงจำ


จากภูมิหลังที่ดูเรียบง่ายของมายา ลิน ปี 1981 ลินในวัย 21 ปี ได้เผชิญความเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ ในตอนนั้นนึกภาพนักศึกษาหญิงเอเชียที่เรียนชั้นปริญญาตรีที่ชนะการแข่งขันการก่อสร้างอนุสรณ์สถานอันเป็นการประกวดแบบระดับชาติ

ชีวิตของเธอก็เป็นหญิงสาวชาวเอเชียนอเมริกันที่มีอนาคตคนหนึ่ง แต่อนาคตของเธอกลับฉายแสงอย่างเจิดจ้าและรวดเร็วก็เมื่อตอนที่เธอกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่สองที่มหาวิทยาลัยเยล ในสาขาประติมากรรมและสถาปัตยกรรม

ทำไมคณะกรรมการถึงเลือกผลงานของหญิงสาวคนนี้ งานของลินในการออกแบบพื้นที่อนุสรณ์ถือเป็นจุดเปลี่ยนและการปฏิวัติภาษาทางการออกแบบสถาปัตยกรรมและการใช้พื้นที่ธรรมชาติหรือการออกแบบภูมิทัศน์ในการสร้างประสบการณ์ของการจดจำขึ้นใหม่ อันเป็นการพลิกทั้งบทบาทและภาษาทางสถาปัตยกรรมของยุคสมัยใหม่ได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

ผลงานของ Vietnam Veterans Memorial คือเป็นงานออกแบบอนุสรณ์สถานที่แปลกประหลาดในนิยามของปลายยุค 1980 หรือปลายศตวรรษที่ 20 พื้นที่จดจำที่ลินเสนอคือเจ้าแผ่นหินพร้อมการสลักชื่อผู้จากไปจำนวนมหาศาล เป็นการให้ชื่ออย่างไม่เฉพาะเจาะจง ไปจนถึงตัวแผ่นดินที่บางส่วนถูกปักลงไปในผืนดิน ทำให้เกิดพื้นที่ (Space) ที่พาผู้มาเยือนเดินลงไปในจุดที่ผืนดินเหมือนถูกหั่นออกไป หน้าตาของแนวหินสีดำไม่มีอะไรเหมือนกับอนุสรณ์หรืออนุสาวรีย์ในร่วมสมัยก่อนหน้าเลย พื้นที่แห่งการจดจำตามแบบแผนมักประกอบด้วยรูปปั้น ประกอบภาพแทนตัวบุคคล มีการประดับธง ตรงนี้ลินเองมีการโต้แย้งซึ่งเรื่องใหญ่ถึงขนาดต้องเข้าสภาสูงของสหรัฐ พร้อมหาจุดตรงกลางด้วยการหล่อรูปปั้นทหารและประดับธงชาติ

Talk11_03.jpg

The Fisher Center at Bard College


รอยแผลบนแผ่นดิน สถาปัตยกรรมที่เปิดและเยียวยาบาดแผล


ในงานออกแบบของลิน เธอกล่าวว่า การตัดผืนดินเป็นภาพที่เธอคิดว่าผืนดินเหมือนถูกมีดเฉือนออกไป เป็นตัวแทนของรอยแผลและการสูญเสีย ถ้าเราดูบริบทของการนำเสนอรวมถึงความคิดที่มีต่อสงคราม สงครามเวียดนามเป็นสงครามที่สัมพันธ์กับกระแสความคิดใหม่ๆ ของคนรุ่นใหม่ สงครามอาจไม่สวยงามอีกต่อไป การนำเสนอและจดจำสงครามจึงเปลี่ยนจากการเชิดชูและความภาคภูมิใจไปสู่การเปิดบาดแผลและใช้พื้นที่งานออกแบบไปสู่การเป็นพื้นที่แห่งการเยียวยารักษาบาดแผลนั้นๆ

นอกจากอนุสรณ์แรกของลินจะเป็นภาพของการออกแบบแบบมินิมอล การใช้พื้นที่ธรรมชาติเพื่อเล่าประเด็นอันซับซ้อน บริบทตัวตนที่แตกต่างคือการเป็นคนเอเชียของลินนั้นก็ดูจะเป็นองค์ประกอบที่ทำให้งานออกแบบของเธอโดดเด่นและเป็นตัวแทนของการรำลึกและพูดถึงความตายในมุมมองที่แตกต่างออกไป

ข้อสังเกตหนึ่งเกี่ยวกับอนุสรณ์สถานสงครามเวียดนามของลินคือ วิธีการเล่าถึงความตายรวมไปถึงการก้าวเข้าสู่พื้นที่ที่ว่าด้วยการจากไปและการรำลึกถึงของเธอนั้นไม่เหมือนกับวิธีของนักออกแบบอเมริกัน ไม่ได้ยืนอยู่บนวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง อนุสรณ์สถานของลินเป็นพื้นที่ที่ญาติและคนรักของผู้สูญเสียทุกคน ไม่ง่าชนชาติไหนก็สามารถก้าวเข้ามาและรำลึกถึงเหล่าผู้ที่จากไป

ทั้งนี้ตัวอนุสรณ์ของลินยังค่อนข้างใช้ธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศรอบด้าน การตั้งใจขุดเพื่อนำแผ่นหินแกรนิตที่ถูกขัดจนขึ้นเงาซึ่งเป็นตัวแทนของดินและการจารึกลงบนผืนดิน การเดินลงในหลุม นัยยะที่ซ่อนอยู่ของการมาเยือนอนุสรณ์แห่งนี้ จึงเป็นเหมือนการก้าวลงสู่บาดแผลที่ถูกเปิดออก เป็นการจดจำผลและการสูญเสียจากสงคราม ในขณะเดียวกันตัวพื้นที่ก็กำลังให้ภาพของการเยียวยาด้วย

อนุสรณ์ของลินแนวกำแพงสีดำเมื่อสร้างเสร็จในปี 1982 พื้นที่แห่งนี้กลายเป็นพื้นที่รวมตัวของผู้สูญเสีย การเข้ามายังพื้นที่นำไปสู่แผ่นรายชื่อของผู้ที่จากไป ผู้สูญเสียมากร้องไห้และรำลึกถึงคนที่ตนรัก ตั้งแต่วันแรกที่อนุสรณ์เปิด พื้นที่หินสีดำแห่งนี้กลายเป็นที่ๆ ผู้คนนำสิ่งของและดอกไม้มาทิ้งไว้เพื่อเป็นการรำลึกผู้จากไปที่ไม่ไร้นามทั้ง 58,320 ชื่อนั้น

Talk11_04.jpg

2x4 Landscape


มายา ลิน เป็นอีกหนึ่งสถาปนิกหญิงที่เป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลาย การมีบริบททางวัฒนธรรมที่เฉพาะตัว การได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติและการใช้พื้นที่ธรรมชาติด้วยภาษาที่งดงามเหมือนกับบทกวี งานของลินหลังจากนั้นเธอเองก็พยายามเปิดไปสู่พื้นที่อื่นๆ นอกจากงานออกแบบอนุสาวรีย์และพื้นที่เพื่อการรำลึกจดจำ งานของลินค่อนข้างให้ความสำคัญกับธรรมชาติ เช่น จัตุรัส Rosa Parks Circle ที่ลินใช้น้ำเป็นพื้นฐานและให้ลานแห่งนี้แสดงภาวะของน้ำในสามรปแบบ ตั้งแต่ลานน้ำแข็งในฐานะน้ำในรูปแบบของแข็ง น้ำพุหมอกแสดงภาพของน้ำในรูปแบบของการระเหย และน้ำตกที่แสดงภาวะของน้ำที่เป็นของเหลว

มายา ลินจึงเป็นอีกหนึ่งสถาปนิกที่แสดงสุนทรียภาพของการออกแบบภูมิทัศน์ ใช้ความเป็นธรรมชาติและการเปิดพื้นที่ที่ให้มนุษย์ก้าวไปสู่มิติทางประสบการณ์และความรู้สึกที่ลึกซึ้งโดยมีธรรมชาติเป็นองค์ประกอบสำคัญ จากเด็กหญิงรักการเรียน ลูกหลานชาวเอเชีย สู่การเป็นสถาปนิกหญิงคนแรกที่ฝากผลงานไว้บนลานที่ทรงอำนาจที่สุดแห่งหน่ึงของโลก

Talk11_06.jpg
Rosa Parks Circle


อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.britannica.com/biography/Maya-Lin
https://www.bloomberg.com
https://www.experiencegr.com
https://www.archdaily.com

เรื่องราวที่คุณอาจสนใจ
ดูทั้งหมด