25 มิถุนายน 2567

Pride Center พื้นที่โอบรับและส่งเสริมตัวตนที่หลากหลาย

web copy.jpg


ล่าสุด พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมได้ผ่านมติของ สว. เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงการเข้าสู่กระบวนการประกาศใช้เป็นกฎหมาย ถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่ทำให้ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีกฎหมายสมรสระหว่างเพศเดียวกัน

ในขณะเดียวกัน เมื่อมองไปยังพื้นที่กายภาพที่เมืองจัดไว้ให้ก็น่าสนใจว่า ในประเทศไทยมีพื้นที่อันเป็นแหล่งรวมตัว และพื้นที่พบปะที่ปลอดภัยของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศกันเพียงพอหรือไหม 'CultureHouse' กลุ่มนักขับเคลื่อนเมืองในอเมริกากล่าวว่า ประวัติศาสตร์เมืองนั้นเกิดขึ้นมาพร้อมการออกแบบที่ไม่ได้คำนึงถึงคนกลุ่มหลากหลายทางเพศเท่าไหร่นัก หลายครั้งเป็นการผลักไสให้พวกเขาต้องอยู่ในพื้นที่ปิดหรือส่วนตัวเท่านั้น แทนที่จะแสดงออกตัวตนอย่างภาคภูมิใจในที่สาธารณะ

แต่เมื่อเวลาล่วงเลยที่สังคมพึงตระหนักถึงสิทธิความหลากหลายมากขึ้น มีการสร้างพื้นที่โอบรับความหลากหลายทางเพศที่แท้จริง ระยะหลังมานี้ เราได้เห็นหลากหลายผลงานของสถาปนิกและผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการบอกเล่าความหลากหลายทางเพศมากขึ้น แม้ในไทยอาจจะไม่ชัดมีเพียงในรูปแบบนิทรรศการที่เราได้เห็นตามศูนย์การค้า พื้นที่กลุ่มภาคประชาสังคม หรือการมีผับเกย์ ผับเลสเบี้ยน เป็นต้น แต่ในต่างประเทศเราได้เห็นการพัฒนามิวเซียมหรือ Pride Center ขึ้นมาโดยเฉพาะ

The Victorian Pride Centre

talk21_07.jpg
Australia's first purpose-built pride centre


ที่ออสเตรเลีย มีอาคารหน้าตาประหลาดมีลูกเล่นที่โดดเด่นด้วยหน้าต่างวงกลมและโครงสร้างผนังแพทเทิร์นทรงโค้งอย่าง Victorian Pride Centre นับว่าเป็น Pride Center แห่งแรกของประเทศที่ตั้งใจพัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมคอมมิวนิตี้ LGBTQ+ และเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้พวกเขาโดยเฉพาะ ตั้งอยู่ไม่ไกลจากชายหาด St Kilda ในเมืองเมลเบิร์น

talk21_02.jpg


ส่วนด้านหน้าของอาคารมีบริเวณระเบียงลอยฟ้าที่หันหน้าออกสู่ถนนที่สามารถจัดอีเว้นต์เฉลิมฉลองได้ เวลามีพาเหรดต่างๆด้านหน้าอาคาร ส่วนโปรแกรมด้านในแน่นอนว่าตั้งใจออกแบบมาเพื่อโอบอุ้มกิจกรรมที่หลากหลายและการทำงานเพื่อขับเคลื่อนความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะมีศูนย์สุขภาพและสวัสดิการ ร้านหนังสือ แกเลอรี่ ห้องประชุม คาเฟ่ และโรงละคร หากได้มาเยือนที่นี่ก็ต้องรู้สึกตื่นเต้นกับสเปซที่คล้ายเดินผ่านอุโมงค์ไปสู่โปรแกรมต่างๆ ตัดกับวัสดุตกแต่งไม้ เซรามิกและผ้าหลากสีสันได้อย่างพอดี

talk21_03.jpg


ดังที่ตัวศูนย์ตั้งใจเป็นพื้นที่ที่กลุ่ม LGBTQ+ และองค์กรณ์ต่างๆร่วมแชร์ไอเดียและทรัพยากรร่วมกันจริงๆ ในรายงานของศูนย์สำหรับปี 2022-2023 ที่นี่มีการจัดอีเว้นต์กว่า 777 อีเว้นต์ รวมผู้มาเยือนกว่า 40,000 คน มีทั้งเทศกาลงานแสดง ตลาดนัดงานสร้างสรรค์ของเกย์ กิจกรรมวาดภาพ และกระทั่งอีเว้นต์การแลกเปลี่ยนเสื้อผ้าแบบไม่แบ่งเพศด้วย ต้อนรับนักเดินทางจากออสเตรเลียและทั่วโลก

talk21_01.jpg


Los Angeles LGBT Center

talk21_04.jpg


ในลองแองเจลีสเอง ก็มีพื้นที่อย่าง Los Angeles LGBT Center ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์การต่อสู้สิทธิเพื่อคนหลากหลายทางเพศของเมือง ที่นี่ได้รับการออกแบบโดยสถาปนิก Leong Leong และ KFA บนพื้นที่กว่า 180,000 ตารางฟุต (17,000 ตารางเมตร) น่าสนใจว่าประกอบไปด้วยศูนย์เยาวชน ศูนย์ผู้สูงอายุ กลายเป็นแคมปัสเพื่อให้คนต่างวัย ต่างเพศ เรียนรู้ซึ่งกันและกันได้

ตัวสถาปนิกบอกว่าตั้งใจออกแบบให้พื้นที่นี้เชื่อมโยงกับเพื่อนบ้านโดยรอบ เข้าถึงได้ง่ายจากบริเวณถนน หากมองจากภายนอกจะรู้สึกถึงการเข้าถึงง่าย ด้วยรูปทรงอาคารแนวยาว ประกอบร่างด้วยผนังกระจกแก้ว พวกเขาใช้วิธีหั่นแคมปัสเป็นโวลุมและสเกลต่างๆเพื่อแต่ละโปรแกรม รูปร่างทั้งเหลี่ยมและโค้งต่างกันไป ไม่ว่าจะแอดมิน การให้คำปรึกษา หรือโซนการศึกษา

talk21_05.jpg


มีโซนที่เป็นคอร์ดยาร์ดภายในที่ได้รับแรงบันดาลใจจากบ้านคอร์ดยาร์ดฮอลลิวูด เป็นการผสานพื้นที่เอ้าท์ดอร์และอินทีเรียเข้าด้วยกัน และช่วยแบ่งคั่นโปรแกรมการใช้งานต่างๆเพื่อรองรับความเป็นส่วนตัวของกิจกรรมนั้นๆ

talk21_06.jpg


พร้อมไฮไลต์สำคัญคือ Pride Hall อาคารจัดงานอเนกประสงค์จัดอีเว้นต์ สูง 50 ฟุต (15 เมตร) และพื้นที่ดาดฟ้าเปิดให้ชมภาพบรรยากาศเมืองโดยรอบได้ด้วย และในเฟสสองจะมีการเปิดเป็นพื้นที่อยู่อาศัยจับต้องได้ (affordable housing) สำหรับคนธรรมดาและโฮมเลสต่อไปอีกด้วย

อ้างอิงข้อมูลจาก
https://culturehouse.cc
https://www.archdaily.com
https://www.dezeen.com
https://pridecentre.org.au
https://kfalosangeles.com

เรื่องราวที่คุณอาจสนใจ
ดูทั้งหมด