6 มิถุนายน 2567

PARIS OLYMPIC 2024

web 2.jpg


โอลิมปิกที่ปารีสจะเปิดรับผู้มาเยือนทั้งทัพนักกีฬาและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ไม่ใช่แค่การจัดการแข่งขัน แต่จะเป็นการที่ปารีสเปิดโฉมใหม่ไปสู่ทิศทางการพัฒนาเมืองไปสู่อุดมคติใหม่ของปารีส ซึ่งปารีสเองก็พยายามเปลี่ยนภาพจำของความเป็นเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยความแออัด ปัญหามลพิษ ไปสู่การเป็นเมืองอุดมคติใหม่ เป็นภาพปารีสที่กลางเมืองกลายเป็นสวน เป็นเมืองที่ผู้คนใช้ชีวิตด้วยจักรยานและการเดินไปในย่านรอบๆ

โอลิมปิกจึงเป็นอีเวนต์ใหญ่ที่ปารีสจะใช้สื่อสารตัวตนของความเป็นเมืองแห่งอนาคตที่ต่อผู้คน เน้นแก้ปัญหาสำคัญคือการจัดงานขนาดใหญ่แล้วไม่นำไปสู่ประโยชน์ที่ยั่งยืนของเมือง ปารีสโอลิมปิกในครั้งนี้จึงมีความ “ครั้งแรก” ในหลายๆ อย่าง เช่นการจัดงานในพื้นที่กลางเมือง แข่งขันกีฬาในพื้นที่เมืองซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาและใช้งานต่อ การจัดพิธีเปิดนอกสเตเดียมที่ตั้งใจใช้แม่น้ำแซนเป็นเวทีสำคัญในการรวมตัวและเดินทัพนักกีฬา การจัดงานในครั้งนี้จึงเต็มไปด้วยความท้าทายและโจทย์ที่ทางปารีสต้องเตรียมการปรับและเปิดพื้นที่เมือง

เพื่อเป็นการนับถอยหลังสู่โอลิมปิกที่จะจัดขึ้นเดือนหน้า ในวันที่ 26 กรกฎาคม - 11 สิงหาคมนี้ เราจึงชวนดูความพร้อมของกรุงปารีสในการเตรียมเมือง เตรียมงาน เตรียมสาธารณูปโภคใหม่ๆ ในการจัดงานโอลิมปิกที่จะถือว่าเป็นงานสำคัญครั้งประวัติศาสตร์ จากสุดยอดโจทย์ของความฝันที่จะจัดงานกลางแม่น้ำและใช้แม่น้ำเป็นสนามแข่งหนึ่ง ถึงการอัพเดทขนส่งสาธารณะ การสัญจรรูปแบบใหม่ที่ยั่งยืนคือทางจักรยานและระบบโครงข่ายสาธารณะ ไปจนถึงการเปิดย่านที่เรียกว่า Park Block การจัดการผังเมืองที่ย่อส่วนลงเพื่อลดความสำคัญของการใช้รถยนต์ในพื้นที่เมือง

t18_04_01.jpg

พิธีเปิดกลางแม่น้ำแซนยังน่ากังวล

พิธีเปิดโอลิมปิกเป็นสิ่งที่ทุกคนรอคอย จุดใหญ่ของปารีสโอลิมปิกคือการจัดการแข่งขันและงานอื่นๆ ลงบริเวณใจกลางเมือง ใช้พื้นที่เมืองในการแข่งขัน แต่เดิมการจัดมหกรรมกีฬามักมีการสร้างสเตเดียมขนาดใหญ่และเปิดพื้นแข่งขัน ปัญหาที่ตามมาคือสาธารณูปโภคที่ใช้ในงาน เมื่อจบงานแล้วถูกทิ้งร้าง ปารีสจึงต้องการใช้การจัดงานเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมือง นอกจากพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่จะกลับมามีชีวิตด้วยการเป็นสนามแข่งขัน งานในครั้งนี้ปารีสค่อนข้างวางแม่น้ำแซน (River Seine) ไว้เป็นหัวใจสำคัญของงานโอลิมปิกในครั้งนี้

อย่างแรกคือการเลือกจัดพิธีเปิดในแม่น้ำแซน โอลิมปิกครั้งนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ไม่จัดในสนามกีฬา ปารีสตั้งใชให้แม่น้ำแซนเป็นเวทีมหึมาของการเปิดกีฬาของมนุษยชาติ ทัพนักกีฬาจะเดินทางมาในเรือ 160 ลำ ขนทัพนักกีฬา 10,500 ชีวิต พื้นที่งานกินระยะทางแม่น้ำ 3 ไมล์ ในงานจะมีผู้นำรัฐและบุคคลสำคัญจาก 120 ประเทศ มีจำนวนผู้ชมราว 300,000 คน ดังนั้น งานมหึมาในครั้งนี้กำลังถูกตั้งคำถามเรื่องการควบคุมความปลอดภัย รวมถึงการจัดการเรื่องการจราจรและการขนส่ง ประธานาธิบดีมาครงเองกล่าวยืนยันว่างานจะเป็นไปตามแผน แต่หากมีความเสี่ยงที่มากเกินไปอาจย้ายพิธีเปิดไปที่ลานหน้าหอไอเฟลแทน

t18_09.jpg


การลงว่ายในแม่น้ำอาจต้องเลื่อนออกไป

นอกจากพิธีเปิดแล้ว แม่น้ำแซนยังเป็นตัวแทนสำคัญของการพัฒนาเมืองในทิศทางใหม่ของปารีส คือการกลับมาฟื้นฟูธรรมชาติและภูมิทัศน์ให้กลับมาอยู่คู่กับวิถีชีวิตผู้คน แม่น้ำแซนขึ้นชื่อเรื่องความสกปรกเหมือนกับแม่น้ำกลางเมืองหลวงที่มักจะเสื่อมโทรม กลายเป็นพื้นที่ปนเปื้อน การฟื้นฟูแม่น้ำจนใสสะอาดมักเป็นหมุดหมายสำคัญของเมืองใหญ่ในการหันกลับสู่ธรรมชาติ และปารีสเองก็ประกาศว่าโอลิมปิกในครั้งนี้ แม่น้ำแซนจะเป็นพื้นที่สำคัญของการแข่งขัน คือจะเป็นแม่น้ำที่ใช้แข่งไตรกีฬา น้ำของแม่น้ำแซนจะสะอาดจนสามารถลงว่ายได้ เป็นภาพการแข่งที่ลงไปในพื้นที่เมืองอย่างน่าตื่นตนตื่นใจ

t18_08.jpeg


และแน่นอนว่าการทำความสะอาดแม่น้ำแซนเป็นโจทย์ยากที่ทั่วโลกจับตาด้วยความกังวลใจ ปารีสเองลงทุนหลักพันล้านยูโรและลงมือทำความสะอาดแม่น้ำแซนด้วยโปรเจคยักษ์เช่นการบ่อพักน้ำขนาดยักษ์ที่จะส่งน้ำฝนเข้าไปโรงบำบัดและส่งน้ำสะอาดกลับมายังแม่น้ำรวมถึงการจัดการกับระบบท่อระบายน้ำของเมือง

โจทย์หลักคือการจัดการให้สัดส่วนแบคทีเรียสำคัญคือ E Coli อยู่ในปริมาณที่ปลอดภัย ปัญหาใหญ่ของระบบพักและทำความสะอาดน้ำของแม่น้ำแซนล่าสุดมาจากปริมาณน้ำฝนที่ตกชะของเสียต่างๆ ลงสู่แม่น้ำ ปารีสเพิ่งจะเจอกับฝนที่รุนแรงจนเกินศักยภาพของการรองรับและบำบัดน้ำ สื่อการ์เดียนรายงานเมื่อเดือนเมษายนว่าการตรวจคุณภาพน้ำ 14 ตัวอย่าง มีเพียงตัวอย่างเดียวที่มีคุณภาพน้ำดี ในความเห็นของผู้รับผิดชอบยังมั่นใจว่าจะยังคงมีการแข่งขันในแม่น้ำแซนแต่อาจเลื่อนการแข่งขันออกไปถ้าในช่วงเวลางานเป็นช่วงเวลาที่มีฝนตกชุก

t18_07_01.jpg

ขี่จักรยานเที่ยวงานและสายรถไฟใหม่

การรองรับนักท่องเที่ยวและผู้คนจำนวนมาก รวมถึงความฝันใหม่ของปารีสคือการเป็นเมืองที่ไม่พึ่งพารถยนต์ ปารีสเองมีแผนพัฒนาโครงข่ายการเดินทางปัจจุบันให้ความสำคัญกับจักรยาน ล่าสุดปารีสอัพเดทและลงทุนสร้างโครงข่ายจักรยานเพิ่มขึ้นอีกกว่า 50 กิโลเมตร มีรายงานว่าจักรยานเริ่มกลายเป็นพาหนะสำคัญของผู้คน ดังนั้นงานโอลิมปิกในครั้งนี้ทางเมืองก็วางภาพไว้ว่าผู้คนที่มางานจะใช้จักรยานในการเดินทางภายเขตกลางเมืองของปารีส ซึ่งเป้าหมายแฝงของงานโอลิมปิกคือการนำกีฬาและการออกกำลังกายกลับมาสู่พื้นที่เมือง นึกภาพปารีสที่ไม่ใช่แค่นักกีฬาขยับร่างกาย แต่คือผู้ชมและผู้คนที่ขี่จักรยานและเดินไปมาบริเวณใจกลางของเมืองที่โรแมนติกที่สุดเมืองหนึ่งของโลก

นอกจากโครงข่ายจักรยาน ปารีสได้ลงทุนขยายพื้นที่ให้บริการของระบบรถไฟใต้ดินอย่างยิ่งใหญ่ โครงการปรับปรุงและขยายเส้นทางรถใต้ดินเน้นการเชื่อมต่อระหว่างชานเมืองเข้าสู่พื้นที่กลางเมือง มีการขยายเส้นทางในระยะทาง 200 กิโลเมตรพร้อมสถานีให้บริการกว่า 60 สถานี ตัวโครงข่ายใหม่เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2016 แต่โครงข่ายและสายรถไฟใหม่ 4 สายอาจเสร็จไม่ทันวันงาน สายที่สร้างเสร็จคือส่วนต่อขยายของสายรถไฟที่เชื่อมต่อไปยังสนามบินออรี่(Orly Airport)

t18_10.jpeg


อัพเดทสถาปัตยกรรมที่จะเฉิดฉายอีกครั้ง

ความน่าตื่นเต้นของปารีสโอลิมปิกคือการจัดงานในพื้นที่ประวัติศาสตร์ เราจะได้เห็นพื้นที่ที่เคร่งขรึมกลับมามีชีวิตอีกครั้งด้วยการนำเอาอีเว้นและการแข่งกีฬาจัดในพื้นที่เหนือจินตนาการ เช่นเราจะได้เห็นพระราชวังแวร์ซายกลายเป็นสนามแข่งขันที่เกี่ยวกับม้า พื้นที่เช่นแวร์ซายใช้เวลาสร้างลานแข่งม้าเป็นเวลาสองปี ชุบชีวิตกิจกรรมการแข่งม้าเพื่อรอต้อนรับทั้งนักกีฬาและม้าอีกเกือบ 500 ชีวิต พร้อมดูแลพื้นที่ในฐานะสถานที่ทางประวัติศาสตร์ไว้ด้วย การเตรียมการที่แวร์ซายเป็นตัวอย่างหนึ่งที่พื้นที่ทางประวัติศาสตร์ได้รับการปรับปรุงเป็นพิเศษ นอกจากสนามใหม่มีการสร้างจุดตรวจสอบม้า 200 คอก และคอกม้าหลักที่ยาว 600 เมตร พร้อมด้วยโรงพยาบาลสัตว์ชั่วคราว

นอกจากแวร์ซายแล้ว ปารีสยังมีอัญมณีพิเศษคือสถาปัตยกรรมสมัยใหม่สำคัญที่ถูกปิดปรับปรุงและปรับปรุงแล้วเสร็จและใช้ในการเป็นส่วนหนึ่งของสนามแข่งเป็นครั้งแรกนั่นคืออาคาร Grand Palais ซึ่งปิดปรับปรุงเป็นเวลาสามปี อาคาร Grand Palais เป็นอาคารสำคัญของสถาปัตยกรรมยุคปัจจุบัน เป็นอาคารที่ใช้จัดงานเอ็กซ์โปในปี 1900 เป็นอาคารโดมกระจกที่สะท้อนความก้าวหน้าทางสถาปัตยกรรมและเทคโนโลยีของมนุษยชาติ รวมถึงสิ่งที่ถูกจัดแสดงในพื้นที่เป็นตัวแทนของการสร้างสรรค์ ความก้าวหน้าและวิทยาการของโลกปัจจุบัน การกลับมาอย่างยิ่งใหญ่นี้จะยิ่งสดใหม่ขึ้นคือโดมประวัติศาสตร์จะเป็นสถานที่แข่งกีฬาฟันดาบ

t18_11_01.jpg


นอกจากสนามกีฬาอย่างเป็นทางการ พื้นที่ประวัติศาสตร์และพื้นที่วัฒนธรรมอื่นๆ ก็เตรียมเข้าร่วมกับความเป็นมหกรรมกีฬา ปรับความสดใหม่และการเคลื่อนไหวเข้าสู่พื้นที่ เมื่อปลายเดือนเมษายน พิพิธภัณฑ์ลูร์ฟก็ออกมาบอกว่าช่วงแข่งขันทางพิพิธภัณฑ์ที่ยิ่งใหญ่และเต็มไปด้วยศิลปะล้ำค่า จะจัดกิจกรรมเช่นจัดคลาสโยคะและเปิดฮอล์สำคัญเป็นคลาสเต้น นึกภาพการเข้าคลาสออกกำลังโดยมีสถาปัตยกรรมของลูร์ฟและกำแพงที่เต็มไปด้วยภาพเขียนสำคัญ ปารีสจะเต็มไปด้วยความน่าตื่นเต้นที่เตรียมรับความรักในกีฬาและการขยับเขยื้อนร่างกาย

อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.archdaily.com
https://www.theguardian.com
https://www.france24.com
https://www.nbcnews.com
https://www.theguardian.com
https://edition.cnn.com
https://olympics.com
https://www.lemonde.fr

เรื่องราวที่คุณอาจสนใจ
ดูทั้งหมด