
การออกแบบที่ท้าทายต่อกฎแรงโน้มถ่วงเป็นเรื่องน่าสนใจเมื่อบรรดาสถาปนิกหรือวิศวกรผู้ออกแบบอาคารใช้ในการดีไซน์เพื่อให้สถาปัตยกรรมนั้นมีความน่าสนใจ หรือสร้างความประหลาดใจและตื่นเต้นต่อผู้พบเห็น ตัวอย่างของการท้าทายแรงโน้มถ่วง เช่น ออกแบบเสาเอียงๆ ที่ดูเหมือนจะล้ม ออกแบบพื้นที่ยื่นออกมามากจนดูเหมือนจะรับน้ำหนักไม่ไหว แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้มีเบื้องหลังคือการคำนวณโครงสร้างที่พิเศษกว่าปกติ
เมื่อหันกลับมามองบรรดาสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นที่นิยมใช้วัสดุอย่างคอนกรีตเสริมเหล็กที่ให้ความรู้สึกว่ามีน้ำหนักมหาศาล แต่จะออกแบบอย่างไรให้ดูเบาลอย เพื่อท้าทายกับกฎแรงโน้มถ่วงที่ว่านี้
วันนี้ขอพาไปดูอาคารหนึ่งที่ดูท้าทายต่อกฎแรงโน้มถ่วงไม่ใช่น้อย ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัเกษตรศาสตร์ บางเขน นั่นคือ ตึกฟิสิกส์ หรือชื่อตึกอย่างเป็นทางการในปัจจุบันว่า อาคารวิฑูรย์ หงส์สุมาลย์

ตึกนี้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2512 ได้รับการออกแบบจากสถาปนิก องอาจ สาตรพันธุ์ สถาปนิกนักเรียนนอกจากมหาวิทยาลัยคอร์แนลและเยล โดยมีวิศวกรคือ รองศาสตราจารย์ประเสริฐ ผลดี
รองศาสตราจารย์ ดร.บุญสม สุวชิรัตน์ เป็นอาคารที่มีกลิ่นอายของ Le Corbusier ในหลายๆองค์ประกอบ เช่น การใช้คอนกรีตเปลือย การออกแบบแผงกันแดด ทางลาดขึ้นอาคาร รางระบายน้ำฝนองค์ประกอบของบันไดและราวจับ

จุดเด่นอันหนึ่งของอาคารนี้คือ รูปทรงของห้องเลคเชอร์หรือห้องเรียนที่ยื่นออกมามากกว่าปกติ เอียงตามความลาดชันของสโลปภายในที่ทำเป็นเก้าอี้ลดระดับเป็นอัฒจันทร์ แม้จะยื่นออกมามากขนาดนี้แต่ก็ยังไม่มีเสาใดๆ มารับน้ำหนัก จนเกิดเป็นร่มเงาชายคาขนาดใหญ่จนสามารถจอดรถข้างใต้ได้สบายๆ

คุณค่าของอาคารหลังนี้ไม่เพียงทำให้เราได้เห็นว่ามรดกสถาปัตยกรรมของประเทศไทยมักได้รับแนวคิดหรืออิทธิพลการออกแบบร่วมสมัยกับนานาประเทศอยู่เสมอ เป็นหลักฐานของความสัมพันธ์ทางความคิดยุคสมัยหนึ่ง และที่สำคัญนี่เป็นผลงานการออกแบบของสถาปนิกไทยที่ต่อมาได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติในปี พ.ศ. 2552 และท่านยังได้รับการเสนอชื่อให้รับรางวัล Driehaus Architecture Prize จากมหาวิทยาลัยนอเตอร์เดม สหรัฐอเมริกา โดยรางวัลนี้จะมอบเพื่อเป็นเกียรติให้แก่สถาปนิกผู้มีส่วนสำคัญในการทำงานและขับเคลื่อนสถาปัตยกรรมท้องถิ่นร่วมสมัย (contemporary vernacular) และสถาปัตยกรรมคลาสสิคอีกด้วย








