ถ้าผ่านไปใกล้กับโรงพยาบาลรามาธิบดี หลายคนอาจไม่ทันได้สังเกตว่าแถวนี้ก็มีตึกที่น่าเดินชมอีกแห่งหนึ่งซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางต้นไม้ใหญ่รอบๆ รั้วมหาวิทยาลัยมหิดล ความร่มรื่นของต้นไม้ใหญ่ทำให้ตัดความวุ่นวายจากข้างนอกเหมือนย้อนกลับเข้ามาสู่อดีตครั้งที่มีตึกหน้าตาแปลกๆ แบบนี้เกิดขึ้นราวกับว่าเป็นวัตถุรูปทรงประหลาดตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร
ตึกที่ว่านี้มีตั้งอยู่ในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บริเวณถนนศรีอยุธยา โดยมีชื่อเรียกไม่เป็นทางการว่า “ตึกกลม" ซึ่งชาวคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ใช้เรียกชื่ออาคารเรียนรวมหลังนี้หรือ Lecture Center ของพวกเขา เป็นอาคารที่ใช้ทำการเรียนการสอน จัดเสวนาต่างๆ เรียกว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่ชาวคณะวิทยาศาสตร์ที่นี่ต้องคุ้นเคยเป็นอย่างดี และได้รับการยกย่องให้ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2553 จากสมาคมสถาปนิกสยามฯ
หลายคนอาจเข้าใจผิดว่า “ตึกกลม” นี้มีรูปทรงกลม แต่แท้จริงเรียกว่ากลมจากด้านบน คือต้องมองจากผังพื้นหรือแปลนอาคารก็จะเห็นว่ามีลักษณะเป็นวงกลมโดยรอบ หากเราอยู่ระดับพื้นปกติจะเห็นว่าอาคารกลับมีรูปทรงผายขึ้นเสมือนจานขนาดใหญ่ จนบางคนก็เรียกว่าตึกจานบินก็ไม่ผิดนัก สุดแล้วแต่จินตนาการ
ตึกนี้สร้างในปี พ.ศ. 2508 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2511 ออกแบบโดยสถาปนิก อมร ศรีวงศ์ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กที่มีพื้นผิวแบบที่เรียกว่าคอนกรีตเปลือย หมายถึงการเปลือยผิว ไม่ทาสี เพื่อแสดงให้เห็นถึงเนื้อแท้ของผิวคอนกรีตที่บางส่วนนั้นตั้งใจทิ้งคราบร่องรอยการหล่อคอนกรีตไว้ เห็น texture ของปูนซิเมนต์และรอยไม้แบบที่กลายเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของงานดีไซน์ยุคนี้
จุดสำคัญที่ทำให้อาคารนี้สวยงามมากขึ้นน่าจะเป็นระบบโครงสร้างคอนกรีตขนาดใหญ่ที่เป็นส่วนสำคัญในการพยุงอาคารไว้ แต่กลับมีพื้นที่รับน้ำหนักนิดเดียวโดยมารวมอยู่ที่จุดศูนย์กลางของอาคาร เสมือนว่าอาคารคอนกรีตขนาดใหญ่นี้ดูมีน้ำหนักเบาขึ้นมาได้
ปัจจุบันอาคารนี้ยังได้รับการดูแลเป็นอย่างดี แม้จะมีการปรับปรุงบางส่วนเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานในวิถีชีวิตปัจจุบัน แต่ก็ถือว่ายังคงเอกลักษณ์ที่ชาวคณะวิทยาศาสตร์ที่นี่ผูกพันกันมากว่า 50 ปี