ถ้าให้นึกภาพมัสยิดในประเทศไทย หลายคนอาจจะมีภาพจำที่คุ้นเคยกับอาคารขนาดใหญ่ที่มีโดมยอดแหลมเป็นประธาน หรือมีหออาซานขนาบข้างเพื่อทำหน้าที่ส่งสัญญาณในการประกอบพิธีซึ่งเป็นภาพจำของอาคารประเภทนี้ที่เราคุ้นเคย สถาปัตยกรรมของศาสนาอิสลามทั้งในตะวันออกกลางและทั่วโลก ล้วนโดดเด่นในเชิงรูปทรงเรขาคณิต มีการพัฒนาสถาปัตยกรรมรูปแบบนี้จนกลายเป็นทรงโดมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง
แต่ก็ไม่ใช่ข้อกำหนดที่ตายตัวว่า มัสยิดทุกแห่งต้องสร้างเป็นหลังคาทรงโดมเท่านั้น เมื่อเรามาเยือนที่มัสยิดแห่งนี้จึงไม่ปรากฏหลังคาทรงโดมให้เห็นเลย
“มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย” หรือแต่เดิมถูกเรียกว่า “มัสยิดกลางแห่งประเทศไทย” ริเริ่มก่อตั้งแนวคิดที่อยากจะก่อสร้างสถานที่สำหรับรวบรวมกลุ่มมุสลิมในเมืองไทย และเป็นศูนย์กลางของการติดต่อระดับนานาชาติ ซึ่งเดิมทีชาวมุสลิมบางส่วนแยกย้ายกันอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ หรือตามต่างจังหวัด มักจะมีมัสยิดย่อยๆ ประจำชุมชนแต่ละชุมชน ไม่มีที่รวมตัวกันอย่างเป็นปึกแผ่นหรือถาวร การจัดตั้งศูนย์กลางอิสลามจึงเสมือนศูนย์กลางที่รวมจิตใจในระดับประเทศ โดยผู้ที่มีบทบาทสำคัญและเป็นประธานกรรมการในการยื่นจดทะเบียน คือ ร.อ.ฉัตร ศรียานนท์ แต่แรกในปี พ.ศ. 2497 นั้นใช้ชื่อว่า “มัสยิดกลางแห่งประเทศไทย” ต่อมาจึงเริ่มขยับขยายหาทุนทรัพย์และทำเลที่ตั้งสำหรับการก่อสร้างอาคารถาวร และเปลี่ยนชื่อจาก “มัสยิดกลางแห่งประเทศไทย” มาเป็น “มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย” ในปี พ.ศ. 2519
อาคารแห่งนี้ได้รับการออกแบบโดยสถาปนิก ไพจิตร พงษ์พรรฤก ภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณ แทนที่จะสร้างมัสยิดตามแบบประเพณีเดิมหรือเน้นการตกแต่งที่หรูหรา สถาปนิกหาทางออกโดยใช้แนวคิดแบบโมเดิร์นซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในยุคนั้นในการออกแบบ คือเน้นฟังก์ชั่นการใช้งาน มีความเรียบง่ายแต่ก็สวยด้วยโครงสร้างที่ชัดเจนและมีความเป็นสากลนิยม
ความเป็นสมัยใหม่หรือโมเดิร์น สะท้อนผ่านวัสดุยอดนิยมแห่งยุคนั่นคือ ค.ส.ล. คอนกรีตเสริมเหล็กที่สร้างรูปทรงได้ตามจินตนาการ หล่อคอนกรีตและรีดให้เป็นแผ่นโค้งได้บางสมใจนึก เป็นอาคารกึ่งเปิดโล่ง มีเสารูปหกเหลี่ยมที่ปลายยอดเสาแต่ละต้นนั้นเป็นจุดรองรับหลังคาคอนกรีตโค้งที่แผ่กว้างออกไปตามสัญฐานรูปหกเหลี่ยมของเสา มองคล้ายดอกผักบุ้งขนาดยักษ์หลายๆดอกเชื่อมติดกัน
ภายใต้หลังคาคอนกรีตที่เป็น Modular system หกเหลี่ยมนี้ กั้นพื้นที่เพื่อประกอบพิธีกรรมบางส่วน แยกออกจากโครงสร้างเสา เป็นห้องประชุมหกเหลี่ยมขนาดเล็ก ส่วนที่เป็นห้องโถงใหญ่นั้นเป็นฝีมือการออกแบบตกแต่งภายในของคุณธีรยุทธ รุมาคม และกาพย์ กิจธรรม แฝงเอกลักลักษณ์ของสถาปัตยกรรมอิสลามด้วยลวดลาย Moorish และ Arabian ลงบนบานประตู และการแกะสลักตัวอักษรประดิษฐ์ภาษาอาหรับลงบนผนังหินอ่อนสีดำที่อยู่ด้านทิศกิบลัตจำนวนทั้งหมด 21 แผง
ด้วยรูปแบบวิธีคิดเป็น Modular system ทำให้สามารถต่อเติม ยืดขยาย พื้นที่ออกไปในอนาคตได้ตามความเหมาะสมของงบประมาณ ซึ่งอาคารแห่งนี้ก็ใช้เวลาก่อสร้างต่อเนื่องมาหลายปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 ถึง พ.ศ. 2527 จนถึงปัจจุบันนี้หากใครได้มาเยือนจะพบกับความร่มรื่นและเงียบสงบ แทบจะลืมความวุ่นวายของโลกภายนอกไปเลย ยิ่งได้เข้าไปในห้องโถงใหญ่ในช่วงเวลาที่แสงแดดทะลุผ่านกระจกสีจะยิ่งรู้สึกถึงความมหัศจรรย์ของแสงที่นำทางให้เราไปถึงจุดมุ่งหมายของศรัทธาได้ ที่นี่ต้อนรับทั้งพี่น้องชาวมุสลิมและต่างศาสนิก ขอเพียงมีความสำรวม เคารพสถานที่ และอาจจะต้องขออนุญาตก่อนเล็กน้อยจะทำให้เราชมสถาปัตยกรรมชิ้นนี้อย่างอิ่มเอมใจ